:::     :::

Tactical Analysis : กลยุทธ์หยุดซิตี้

วันเสาร์ที่ 03 มิถุนายน 2566 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
4,617
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
รับรู้ "จุดแข็ง" ของแมนเชสเตอร์ซิตี้ที่ใช้โจมตีคู่แข่ง เพื่อเตรียมวิธีป้องกันให้ได้ และเฟ้นหา "จุดตาย" ที่แมนยูไนเต็ดสามารถใช้เล่นงานทีมของเป๊ปได้เหมือนกัน แทคติกทั้งหมดอยู่ในบทวิเคราะห์แทคติกฉบับนี้ แล้วมารอดูกันว่า คืนนี้ยูไนเต็ดจะทำสำเร็จหรือไม่ สวรรค์เท่านั้นที่รู้

เกมรอบชิงชนะเลิศเอฟเอคัพ ระหว่างแมนเชสเตอร์ซิตี้ กับ แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด จะเป็นเกมที่สู้กันด้วยรายละเอียดของแทคติกที่น่าสนใจระหว่างทั้งสองทีม ที่โดดเด่นกันคนละอย่าง

แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดของเอริค เทน ฮาก เป็นทีมที่เล่นด้วยพื้นฐานของ Possession-based game ที่เน้นหนักในเรื่องของการ Overload นักเตะขึ้นไปในเกมรุกให้มากที่สุด เพื่อสร้างการบุกให้ดุดันและมีประสิทธิภาพในพื้นที่สุดท้าย เกมบุกของเทน ฮาก นักเตะจะดันเกมขึ้นไปสูงเพื่อสร้างการเข้าทำให้ได้มากที่สุด หากครองบอลและทำเกมได้

การสร้างสรรค์เกมรุกจะมาจากทั้งตัวทำเกม(เช่นบรูโน่ เอริคเซ่น) และการสร้างเกมจากแผงกองหลัง ครีเอทโอกาสยิงจากทุกช่องทาง เพื่อสร้างฟุตบอลบุกตามที่เอริค เทน ฮาก เน้นหนักเพื่อให้ทีมเอาชนะคู่แข่งได้

ส่วนแมนซิตี้ ชัดเจนอยู่แล้วว่าพวกเขาเป็นฟุตบอลที่เน้นการครองบอลและสร้างความเหนือกว่าคู่แข่ง ทั้งในเรื่องของปริมาณ / ตำแหน่งการยืน / และการเคลื่อนที่ในสนาม ด้วยปรัชญา Positional Play ที่สร้างให้นักเตะในทีมเข้าใจระบบ และเล่นเพื่อสร้างเกมที่เหนือกว่าคู่ต่อสู้ บนพื้นฐานการครองบอลเป็นหลัก 

การเข้าทำของซิตี้เริ่มต้นมาจากปรัชญาพื้นฐานนี้ ที่สร้างให้นักเตะมีความเข้าใจเกมสูง และหาพื้นที่ หาตำแหน่ง สร้างการครองบอลที่เหนือกว่าคู่ต่อสู้อยู่ตลอดเวลา ผสมผสานกับการเข้าทำหลากหลายรูปแบบที่อันตรายมาก ทั้งจากความสามารถเฉพาะตัว และจากระบบทีมที่ครบเครื่อง

ในฐานะที่บทความนี้ เขียนขึ้นในนามของแฟนแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดอ่าน ดังนั้นเราจะมาดูกันว่า รูปแบบการเล่นใดของซิตี้บ้างที่แมนยูไนเต็ดจะต้องเจอในเกมรอบชิงนี้ และควรจะต้องป้องกันในจุดไหนบ้าง บทความนี้จะนำเสนอการวิเคราะห์แทคติกให้เห็นกันอย่างชัดเจนทีละภาพ ว่าการเล่นของซิตี้ มีจุดแข็งด้านไหน และแมนยูจะหาทางหยุดทีมของเป๊ปยังไงได้บ้าง ในมิติที่เราเข้าใจกันได้อยู่แล้วว่า ยังไงซิตี้ก็เป็นฝ่ายครองบอลแน่นอน ยูไนเต็ดคงจะครองบอลสู้ได้ยาก 

ฟุตบอลไม่ได้เอาแพ้เอาชนะกันที่ เปอร์เซ็นต์ครองบอล แต่ชนะกันที่ "ประตู" เพราะฉะนั้นสิ่งที่ยูไนเต็ดจะต้องโฟกัส คือหยุดการทำประตูของซิตี้ ให้ได้ 

มาดูกันว่า การเล่นเกมรุกของซิตี้ จุดไหนที่ปีศาจแดงต้องระวัง มีประเด็นใหญ่ๆดังนี้

1. เกมรุกริมเส้น

เกมริมเส้นถือเป็นอาวุธหลักของซิตี้เลย ทุกๆแอ็คชั่นเกมบุก จะมีเกมริมเส้นเปิดเกมเป็นหลักทั้งสิ้น โดยการใช้ปีกขึงเกมสองข้างในมิติด้านกว้างของสนาม (wide area) เพื่อจะถ่างช่องให้เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้แนวรุกอื่นๆของทีม สามารถสอดเข้าไปยังพื้นที่ หรือช่องว่างเหล่านั้นได้ ไม่ว่าจะจากปีกหุบเข้าในเอง หรือจะใช้มิดฟิลด์แถวสองสอดเข้าไป

แม้กระทั่งให้กองหลังวิ่งเติมขึ้นมาเล่นเกมบุกในพื้นที่สุดท้าย ทีมของเป๊ปก็ทำได้ จุดเริ่มต้นทั้งหมดอยู่ที่เกมริมเส้นล้วนๆ ดังภาพแรกข้างบนนี้

การโจมตีจากริมเส้นของซิตี้ นอกจากจะถ่างช่องได้แล้ว หากตัวบุกสามารถทะลุขึ้นไปจากด้านข้างได้สำเร็จ ก็จะเกิดสถานการณ์อย่างในรูปนี้ คือตัวริมเส้น(ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปีกที่บุกขึ้นมา) จะทะลุ Defensive Line (ไลน์กองหลัง)ของคู่แข่งไปได้ และพื้นที่ด้านหลังแนวรับ จะเปิดขึ้นมาทันที

ตัวรุกริมเส้นซิตี้จะสามารถโจมตีพื้นที่ด้านหลังนั้นได้(กรอบสีเหลืองในรูป) ด้วยการบุกเข้าไปยิงโจมตีเอง หรือจะจ่ายcut back ให้กับตัวเข้าทำคนอื่นๆที่สอดมาจบสกอร์ได้

เกมริมเส้นสำคัญมาก ถ้ายูไนเต็ดต้องการหยุดเกมของซิตี้ เกมรับริมเส้นจากแบ็คซ้ายขวาของทีม จะต้องผนึกเกมรับให้อยู่หมัด ถ้าหยุดได้ เกมบุกของซิตี้จะหายไปเยอะมาก

ภาพด้านบนนี้คืออีกจังหวะหนึ่งที่เกมบุก เริ่มจากปีกตัวริมเส้น ที่ได้บอลปั้นเกมขึ้นมา และมีตัววิ่งสอดจากแถวสองอย่างฟิล โฟเด้น ที่หุบเข้าในมาอย่างอิสระ และรับบอลจากกรีลิช จบสกอร์เข้าไป 

ให้สังเกตพื้นที่เล่นของกรีลิช (กรอบสีเหลือง) ว่าการปล่อยให้ปีกทำเกมได้ ถือเป็นจุดที่อันตรายอย่างยิ่ง ดังนั้นเกมรับจะต้องหยุดการทำเกมของตัวริมเส้นให้ได้ก่อนในอันดับแรก

และตัวริมเส้นของซิตี้ ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็น "ปีก" เสมอไป อย่างในรูปด้านบนนี้ ตัวด้านข้างในวงกลมเหลือง คือแบ็คอย่างแซร์คิโอ โกเมซ ที่วิ่งเติมมาจากพื้นที่ด้านหลัง เพื่อออกมาแทนตำแหน่งปีกซ้ายที่วิ่งหุบเข้าในไป จนกระทั่ง KDB จ่ายบอลออกมาด้านข้างให้เขาเป็นตัวเล่น และจ่ายตบเข้ากลางย้อนกลับไป จาก กลาง>ซ้าย>กลาง ให้กับฮาลันด์จบสกอร์ในลูกนี้

เพราะฉะนั้นเกมรับริมเส้นของยูไนเต็ดสำคัญมาก ถ้าจะหยุดซิตี้ให้ได้ วิงแบ็คต้องคุมพื้นที่ด้านข้างให้ดี ขณะที่ ปีกแมนยู จะต้องประชิดตัวแบ็คของพวกเขาด้วยในกรณีที่เจอการเติมจากแถวสามมาในลักษณะนี้

2. บอลไดเร็คต์ให้กองหน้าจบสกอร์

อีกวิธีการหนึ่งที่ซิตี้เลือกโจมตีได้อย่างสบายเท้า ถ้าไม่ได้ต้องพึ่งพาตัวริมเส้นแล้ว มิดฟิลด์ของพวกเขาโดยเฉพาะ KDB สามารถเปิดบอลโดยตรงไปสู่ตัวจบสกอร์แดนหน้าอย่าง ฮาลันด์ ให้ทะลุขึ้นไปยิงได้เลย 

รูปแบบนี้เห็นบ่อยมาก และหากต้องการจะหยุด ต้องหยุดตั้งแต่ต้นน้ำ ปิดการทำเกมของเควิน เดอบรอยน์ ให้ได้ ถึงจะหยุดบอลที่จะลำเลียงขึ้นไปยังพื้นที่สุดท้ายได้

อย่างที่วารานเพิ่งให้สัมภาษณ์ไปวันก่อน ต้องตัดพวกเขาแต่เนิ่นๆ อย่าปล่อยให้มาเล่นถึงจังหวะสุดท้าย อาจจะช้าเกินไป

ลักษณะการออกบอลไดเร็คต์แบบนี้ แม้ไม่มีฮาลันด์ แต่พวกเขายังมีจูเรียน อัลวาเรซ เป็นกองหน้า Poacher อีกหนึ่งตัวที่พร้อมวิ่งทะลุ DEF Line ชิงไลน์ทะลุขึ้นไปจบสกอร์ได้ โดยการออกบอลจากนักเตะซิตี้ทั้งทีมที่จ่ายบอลฆ่าได้ ไม่ใช่แค่เดอบรอยน์ เพราะกรีลิช กุนโดกัน แบร์นาโด้ โฟเด้น พวกนี้ออกบอลทะลุช่องไปยังจังหวะสุดท้ายได้หมด

อันตรายทั้งทีมพูดง่ายๆ

3. หลังลอย=ตาย

การเจอกับแมนเชสเตอร์ซิตี้ เกมที่แมนยูแพ้พวกเขาไป 6-3 ช่วงต้นปี เกมนั้นแทคติกเทน ฮาก ผิดพลาดตรงที่เปิดหลังลอยแทบทุกลูก ทำให้เจอสปีดความเร็วซิตี้เล่นงานยับ เพราะพวกเขาสามารถชิงจังหวะขึ้นไปใช้งาน "พื้นที่ว่างด้านหลังไลน์กองหลัง" ได้ตลอดเวลา จากการจ่ายบอลทะลุช่องที่แม่นยำไปให้กองหน้าอย่างฮาลันด์หลุดไปยิงบ่อยมาก ซิตี้ทำแบบนี้ตลอดทั้งซีซั่น

หรือถ้าไม่เช่นนั้น ก็เป็นไปอย่างในรูปนี้ คือพื้นที่ด้านหลังเปิดว่าง ตัวรุกจึงจัดการเปิดบอลตัดแนวหลังทะลุมาให้ตัวเข้าทำด้านเสาไกลอย่างโฟเด้นยิงเข้าไป เหตุผลของการโดนคือหลังลอยนี่แหละ 

เพราะสกิลทักษะของตัวเล่นซิตี้สูงมาก ข้อนี้จึงต้องระวังอย่างยิ่ง

4. การสร้างเกมของเควิน เดอบรอยน์ และการเจาะฮาล์ฟสเปซที่ปีกหุบเข้าในมา

เดอบรอยน์ คือจุดเริ่มต้นของเกมทั้งหมดจากซิตี้ ถ้าสามารถหยุดเดอบรอยน์ได้ พลังเกมรุกของพวกเขาจะลดไปพอสมควร

จุดตายของเรอัล มาดริดในภาพนี้คือปล่อยให้เดอบรอยน์ ทำเกมสบายๆโดยไม่ปิดพื้นที่ หรือประชิดตัวเอาไว้ ผลสุดท้ายคือKDBเลือกมุมแทงให้ตัวรุกด้านข้างที่หุบเข้าในมาอย่างแบร์นาโด้ ทะลุขึ้นไปใช้งานฮาล์ฟสเปซ และหลุดไปยิงได้อย่างง่ายดาย

จุดบกพร่องในจังหวะนี้คือ -ปล่อยเดอบรอยน์ว่าง / เกมรับยืนคุมพื้นที่กันไม่ดี เปิดช่องว่างตรงนั้นให้แบร์นาโด้หลุดเข้าไปควบคุมพื้นที่ และได้โอกาสยิง

การจะหยุดซิตี้ได้ ต้องมีทั้งการ Man-marking ประกบ KDB ให้เหนียวแน่นติดตัวที่สุด ด้วยการตามประกบการทำเกมของเดอบรอยน์ ที่ทำได้ในทุกพื้นที่ ทั้งคิลเลอร์พาสจากตรงกลาง หรือถ่างริมเส้นมาครอสบอลก็แม่นยำ ดังนั้นการจับตายแบบ "1-1 เต็มพื้นที่" เป็นแทคติกสำคัญมากที่ต้องหาตัวเล่นมาหยุดเดอบรอยน์เอาไว้

เฟร็ดเป็นตัวแทคติกที่สำคัญมากในการตามจับเดอบรอยน์ให้อยู่หมัด เพราะเป็นตัวรับที่มีไดนามิคสูงสุด สามารถรับผิดชอบพื้นที่ได้เยอะ เขาเหมาะจะนำมาจับตายเดอบรอยน์มาก ถ้าเฟร็ดไม่ได้ลง บรูโน่อาจจะต้องทำหน้าที่นี้แทนในการตามจับKDBแบบแมนทูแมนออลคอร์ท

ใช้วิธีนั้นกับKDB ส่วนตัวเล่นอื่นๆของทีม จะต้อง "ยืนโซนให้แน่นด้วยระเบียบวินัย" ใช้การเล่นเกมรับแบบ Zonal-marking ที่ยืนคุมพื้นที่สุดท้ายกันให้แน่นๆด้วยระเบียบวินัย ไม่ใช่ปล่อยพื้นที่ว่างเหมือนในภาพข้างบนนี้ที่มาดริดพลาด

พื้นที่ฮาล์ฟสเปซ เป็นจุดที่ซิตี้ใช้สอดวิ่งทะลุขึ้นไปบ่อยมากๆ จากการตัดเข้าใน และมุดเข้าไปยัง pocket ระหว่าง วิงแบ็ค-เซ็นเตอร์แบ็คของคู่แข่ง อย่างในภาพนี้ มาห์เรซเริ่มเกมจากริมเส้น เปิดตบให้เดอบรอยน์ ที่มุดหลุดเข้ามาในฮาล์ฟสเปซ จนสามารถเลือกเปิดให้เพื่อนที่เสาไกลโหม่งเข้าไปสำเร็จ ภาพด้านบนนี้เห็นชัดเจนว่าตัวรุกซิตี้ เข้ามาใช้พื้นที่ตรงนี้บ่อยครั้ง

5. การเติมจากแถวสองของมิดฟิลด์วงนอก

จุดนี้เป็นจุดแข็งของซิตี้ ที่ใช้การเล่นแบบนี้เข้าไปช่วยฮาลันด์ในพื้นที่สุดท้าย พวกเขาสามารถเติมทะลุเข้ากรอบกันได้ทุกตัว และมีคนออกบอลได้ทุกคนเหมือนกัน จังหวะในรูปนี้คือช็อตที่กรีลิช ออกบอลให้กับ "กุนโดกัน" ที่วิ่งเติมจากวงนอก เข้าไปยังกรอบเขตโทษในพื้นที่สุดท้าย จนได้จบสกอร์สำเร็จ

วิธีป้องกันการเติมเช่นนี้ คือกองกลางของทีมจะต้องไล่ตามตัววิ่งเติมเพื่อช่วยอุดช่องให้แนวรับของทีมให้ได้ ถ้ามิดฟิลด์ซิตี้เติม มิดฟิลด์ของคู่แข่งจะต้องไล่ตามไปด้วย ถ้าปล่อยไปดวลกับเซ็นเตอร์ในพื้นที่สุดท้ายจะเอาไม่อยู่ เพราะเสียความได้เปรียบในเรื่อง "ปริมาณ" จากการเติมตัวเล่นเข้ามาใน final third มันสามารถสร้างความได้เปรียบในเกมรุกได้

ถ้าไม่อยากเสียเปรียบปรัชญาซิตี้ อย่าให้เขาคุมความเหนือกว่า(Superiority)ได้ในทุกๆมิติ เรื่องการวิ่งเติมจากวงนอกของซิตี้ ถือเป็นจุดที่ใช้ปรัชญา Positional Play แบบเต็มๆ

คราวนี้มาดูกันที่เกมรุกของแมนยูไนเต็ดบ้าง หลังจากที่ "รู้เขา" ในการวิเคราะห์เกมบุกของซิตี้ และหาวิธีป้องกันในทุกๆรูปแบบแล้ว มาดูฝั่งแมนยูกันบ้างว่า ประเด็นใดที่ยูไนเต็ดจะสามารถเจาะซิตี้ได้

จากการวิเคราะห์และเห็นแพทเทิร์นความผิดพลาด หรือเรียกง่ายๆว่า "จุดอ่อนในเกมรับของซิตี้" เห็นชัดเจนเลยว่า สิ่งที่ควรใช้เล่นงานซิตี้ คือ "การใช้ Quick Transition เล่นเกมเร็วโจมตีขณะที่ซิตี้เปิดพื้นที่ และลงไปเซ็ตเกมรับไม่ทัน"

ทุกครั้งที่ซิตี้เสียประตู หลายครั้งที่ซิตี้โดนแมนยูเล่นงาน ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นการโดนสวนกลับเร็วแทบทั้งสิ้น

ระบบ 3-2-4-1 คือแผนหลักที่เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ใช้อยู่ในฤดูกาลนี้ ในจังหวะที่เป็นฝ่ายครองบอล พวกเขาจะใช้ CB สามคนเซ็ตหลังสาม คู่กับ 2 กองกลางคือ โรดรี้ กับ CB หนึ่งคนที่ถูกดันสูงขึ้นไปยืนคู่ ซึ่งได้แก่สโตนส์

นี่คือทรงการยืนตอนที่พวกเขาครองบอลบุก

ส่วนเกมรับ ซิตี้จะถอยสโตนส์ ลงไปเล่น CB คู่กับดิอาส และเซ็ตเกมรับเป็น "แบ็คโฟร์" ขึ้นมาทันทีในตอนที่ต้องป้องกันคู่แข่ง ด้วยไลน์อัพดังนี้

อคานยี่-ดิอาส-สโตนส์-วอล์คเกอร์ ซึ่งเกมรับก็จะยืนปิดพื้นที่กันค่อนข้างแน่นตามระบบแบ็คโฟร์ที่จะสวิตช์เป็น 4-3-3 ในจังหวะเล่นเกมรับ โดยที่ใช้CBยืนฟูลแบ็คเล่นเกมรับ ไม่จำเป็นต้องให้เล่นวิงแบ็ค เพราะวิงธรรมชาติของซิตี้แทบจะไม่มีแล้ว พวกเขาถึงปรับ formation มาเล่น 3-2-4-1 นั่นเอง

คำถามคือ แล้วจะเจาะซิตี้ตอนไหน? 

สิ่งที่จะทำได้สำเร็จ คือต้องโจมตีตอนที่พวกเขายืนเหลือกองหลังแค่สามคน และยังลงไปเซ็ตเกมรับไม่ทัน อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า เกมรับซิตี้ มีปัญหากับการโดน "เล่นเกมเร็ว" เสมอ

ถ้าเจอแนวหน้าที่มีสปีดของแมนยู ได้บอลมาบุกในจังหวะที่ทีมเรือใบสีฟ้ายังลงมากันไม่หมด ทรงการยืนมันจะมีจุดอ่อนให้โจมตีเยอะมาก

ซึ่งสิ่งที่แมนยูต้องโฟกัส คือการเล่นเร็ว และ "โจมตีโดยใช้ปีกริมเส้นเป็นอาวุธหลัก" ในการเล่น counter-attack ใส่แมนซิตี้ดังนี้

1. สวนกลับพื้นที่ด้านข้างของซิตี้

การเล่นเกมเร็ว จะทำให้แนวรับคู่แข่งลดประสิทธิภาพลง และแมนเชสเตอร์ซิตี้ก็ไม่มีข้อยกเว้น ดังนั้น การโจมตีสวนกลับเร็ว ด้วยจังหวะน้อยครั้ง แต่ทำให้บอลไปถึงแดนหน้าให้เร็วที่สุด คือสิ่งที่แมนยูต้องทำ 

ภาพข้างบนนี้คือช็อตออกบอลยาวของบรูโน่ ออกไปด้านข้างให้มาร์คัส แรชฟอร์ด ในฐานะปีกซ้าย ได้โจมตีเร็วจากพื้นที่ด้านข้างทันที สังเกตว่าช็อตนี้พื้นที่ด้านหลังแบ็คของพวกเขาโล่ง และมีสเปซให้แรชฟอร์ดวิ่งโจมตีเยอะมาก 

สุดท้ายจังหวะนี้ เอแดร์ซอนต้องวิ่งออกจากปากประตูออกมาตัดบอลแรชฟอร์ด ซึ่งก็ตัดพลาดด้วย แนวรับของซิตี้จะรวนทันทีถ้าเจอจังหวะแบบนี้ นี่คือวิธีการแรกที่ต้องทำ คือ เล่นเร็ว และ โจมตีพื้นที่ด้านข้างของซิตี้

ในบริบทของแผน 3-2-4-1 ของเป๊ป เป้าหมายหลักที่เราต้องเจาะ คือ "เซ็นเตอร์ตัวข้าง" ไม่ว่าจะเป็น อคานยี่ทางซ้าย หรือ วอล์คเกอร์ทางขวา สองคนนี้ต้องรับผิดชอบพื้นที่ค่อนข้างกว้าง ดังนั้นยังไงแรชฟอร์ด หรือซานโช่ จะมีพื้นที่เล่นแน่นอน ถ้าบอลถูกส่งเร็วขึ้นมาริมเส้นเช่นนี้

2. ความสำคัญของบอลเร็ว

นอกจากโจมตีด้านข้าง ด้วยการใช้ปีกสายสปีดอย่าง แรชฟอร์ด ซานโช่ รอเล่นเกมสวนกลับเป็นหลักแล้วนั้น การเล่นเร็วสำคัญมากๆ ที่จะสามารถโจมตีแนวรับซิตี้ที่กำลัง "เสียสมดุล" ในเกมรับอยู่ อย่างเช่นจังหวะในภาพข้างบนนี้ เห็นได้เลยว่า แนวรับซิตี้อยู่กันไม่เป็นที่เป็นทาง ผลจากการโดนสวนเร็วด้วยบอลยาวของคาเซมิโร่ ขึ้นหน้าหลุดมาให้แรชฟอร์ด และเป็นบรูโน่ที่วิ่งมายิงตูมเดียวหาย 

ความเร็วในการเล่นโต้กลับ สามารถสร้าง "ความไม่แน่นอนในเกมรับ และความไร้ระเบียบในเกมรับ" ได้มหาศาล (Uncertainty & Chaosity)

ภาพนี้ชัดที่สุดยิ่งกว่าอะไร 

จังหวะนี้แฟนแมนยูคงไม่มีวันลืม ประตูดังกล่าวเกิดจากการเล่นโต้กลับเร็วของปีกสายสปีดอย่าง การ์นาโช่ เช่นกัน ที่โจมตีใส่นาธาน อาเก้ทางซีกนี้ที่หมุนมารับมือ ซึ่งจังหวะการเล่นแม้จะติดแนวรับซิตี้บ้าง แต่การ์นาโช่เลือกที่จะเล่นเร็วต่อเนื่องทันที ในขณะที่ "กลางซิตี้" ยังลงมาไม่หมด 

ผลปรากฏคือ มาร์คัช แรชฟอร์ด วิ่งทะลุไปรับบอลการ์นาโช่ ชาร์จเข้าประตูไป เป็นจังหวะเกมเร็วที่ซิตี้ไม่สามารถลงมาอุดเกมรับให้แน่นๆได้ทัน และเกมเร็วเล่นงานพวกเขาได้เสมอ นี่คืออีกประตูนึงที่เร็วจนแฟนบอลทางทีวีเองก็ยังดูแทบไม่ทันว่าเกิดอะไรขึ้น

รู้ตัวอีกที แรชฟอร์ดยิงเข้าไปแล้ว!

3. สร้างไดนามิคการเล่นในเกมเพรสซิ่ง ป้องกันซิตี้จากกลางสนาม (mid-block & pressing)

ยอมรับกันตามตรงว่า เจอซิตี้เราคงจะครองบอลไม่ได้แน่นอน ดังนั้นแมนยูคงต้องเล่นเกมรับและไม่มีบอลเป็นหลัก

สิ่งที่จะทำให้ยูไนเต็ดสามารถอยู่ในเกมได้คือ สมาธิ พละกำลัง และความมุ่งมั่นในการ"บู๊" ใส่ซิตี้

นอกจากพื้นที่สุดท้ายที่แมนยูไนเต็ดจะต้องปิดพื้นที่ให้ดี จากข้อแรกๆในบทความนี้แล้ว เราควรจะต้องเล่น mid-block ใส่ซิตี้ด้วย "บอลเพรสซิ่งที่ดุดันติดตัว" นักเตะซิตี้ตลอดเวลา

แมนยูไนเต็ดไม่ควรปิดพื้นที่ด้านหลัง DEF Line ด้วยการถอยต่ำไปเล่น low-block อย่างเดียว เพราะนั่นคือการฆ่าตัวตายที่เล่นแบบรอโดนเท่านั้น สิ่งที่เราต้องทำคือ สร้าง mid-block ด้วยเกม pressing ในแดนของเราให้เหนียวแน่น อย่าให้เขาทำงานได้ง่ายๆ

นักเตะเราต้องพุ่งเข้าใส่ให้เต็มที่ เหมือนฟอร์มที่เคยชนะลิเวอร์พูล อาร์เซนอลมาในฤดูกาลนี้ นั่นคือเกมเพรสซิ่งที่หนักหน่วง และเก็บบอลจังหวะสอง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ถ้าเข้าชน แล้วชิงบอลได้ โอกาสในการเล่น Quick Transition จะตามมา เพราะหากลงไปป้องกันต่ำ โอกาสที่จะเล่นสวนกลับจะยากขึ้น เพราะระยะทางกว่าที่จะทำเกมสวนขึ้นไปถึงหน้าโกลซิตี้ จะห่าง และต้องใช้ระยะเวลากว่าเดิม แต่ถ้าตัดบอลกลางทางได้ โอกาสสวนด้วยความเร็วจะมีสูงกว่า

4. Perfect Performance

สุดท้าย เกมนี้แมนยูจะพลิกล็อคชนะได้ ต้องเล่นด้วยความท็อปฟอร์มอย่างถึงที่สุด

ถ้าในเกมนี้ไม่สามารถงัด Perfect Performance ออกมาให้ท็อปฟอร์มสุดๆได้ ก็ยากที่จะชนะทีมมาตรฐานสูงลิบอย่างแมนซิตี้ ที่พร้อมจะเปิดเกมรุกได้จากทุกระยะ ทุกพื้นที่ในสนาม

ทุกสิ่งที่พูดมาในเชิงทฤษฎี แมนยูไนเต็ดจะต้องทำให้ได้จริงเท่านั้น ถึงจะหยุดซิตี้ได้ ถ้าเล่นกันด้วยฟอร์มครึ่งๆกลางๆ ก็บอกเลยว่า ไม่รอด

แมนยูไนเต็ดต้องเล่นให้คมกริบ ในเกมรุกเร็วที่โต้กลับจากริมเส้นสองฝั่ง 

จังหวะเกมรุก ถ้ามีโอกาสครั้งเดียวใน90นาที คุณต้องยิงได้ / ถ้ามีโอกาสแค่สองครั้ง มันจะต้องเป็นสองประตูเท่านั้น คุณถึงจะสู้ซิตี้ไหว

ภาคเกมรับ ปีศาจแดงจะต้องเล่นกันด้วยความแข็งแกร่ง ทั้งในพื้นที่สุดท้าย ที่ต้องเล่น Zonal-marking กันให้แน่นๆด้วยระเบียบที่ปิดพื้นที่ให้ปลอดภัยจากการสอดตามช่องของแนวรุกซิตี้สี่ตัวหลัก พลาดแม้แต่นิดเดียวก็ไม่ได้ เพราะจะโดนเรือใบลงโทษทันที

ตัดท่อน้ำเลี้ยงจากเดอบรอยน์ในแถวสองให้ได้ อย่าทำพลาดเหมือนอันเชลอตติที่ปล่อยให้KDBทำเกมง่ายๆ แนวรับตรงกลางแมนยูต้องไล่ตามเดอบรอยน์แบบติดตัวด้วย Man-marking แบบ full court อย่าให้เขาออกไปเล่นได้โดยง่าย ซึ่ง EtH เคยใช้เฟร็ดทำแบบนี้ครั้งหนึ่งแล้ว และทำสำเร็จ

ถ้าปล่อยช่องว่างให้เดอบรอยน์ทำเกมได้ ทุกอย่างก็พังเหมือนกัน

ดังนั้น ในทุกๆข้อที่กล่าวมา มันมาสรุปรวมที่ข้อสุดท้ายนี้ว่า หากยูไนเต็ดทำได้สักประมาณ 80-90% ที่ยกทฤษฎีทั้งหมดขึ้นมาอธิบายเป็นตัวอย่างนี้ โอกาสที่จะหยุดเกมรุกของซิตี้ได้ก็มีสูง

แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็มีโอกาสจะทำนบพัง และต้านซิตี้ไม่อยู่ หากมีรูรั่วในระบบเกิดขึ้นในเกมดังกล่าว

ในฐานะแฟนผี เรารู้อย่างนี้แล้ว ก็ช่วยกันส่งกำลังใจไปให้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เล่นกันด้วยทีมเวิร์คที่ดีที่สุด และสร้าง Performance ที่เยี่ยมยอดให้ได้ในคืนนี้ ถ้าทำสำเร็จ แชมป์จะมีโอกาสมาอยู่กับฟากสีแดงทันที เพราะฟุตบอล วัดกันที่จำนวนประตู

แมนยูไนเต็ดคงสู้การทำเกมครองบอลที่เด็ดขาดของซิตี้ไม่ได้ แต่ในเรื่องการทำประตู เรามีแทคติกเล่นงานเขาอยู่

การป้องกันประตู เรารู้ความแข็งแกร่งของซิตี้ และปิดผนึกเกมรุกพวกเขาให้ได้ ถ้าทำได้ก็แชมป์ ถ้าทำไม่สำเร็จ ก็ต้องเสียแชมป์ให้ซิตี้ที่ดีกว่าไป แค่นั้นเอง

คืนนี้รู้กัน

#BELIEVE

-ศาลาผี-


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด