:::     :::

ความสุขของวันวาน

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
หลายคนที่เติบโตมากับ ''หนังสือ'' คงอดใจหายไม่ได้ ที่นิตยสาร, หนังสือพิมพ์ และสื่อสิ่งพิมพ์อื่นที่จับต้องได้ ทยอยปิดตัวลงไปตามๆ กัน

การหายหน้าไปบนแผงของหนังสือหลากหัวหลายเล่มไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนมองเอาไว้อยู่แล้ว รอแค่ว่าใครไปก่อน และใครที่ยังพอจะกัดฟันสู้ไหว ยื้อจนถึงที่สุด

โลกเดินหน้าไม่มีหยุด เทคโนโลยีทำให้เราสะดวกมากขึ้นในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ทุกอย่างถูกนำมาเสิร์ฟบนเตียงนอน เพียงแค่เลื่อนนิ้วสัมผัสบนหน้าจอสมาร์ทโฟน

ไม่จำเป็นต้องรอเป็นวัน สัปดาห์ หรือว่าเดือน สำหรับการได้อ่านข่าว บทความ คอลัมน์ และสกู๊ปต่างๆ  

โลกยุคใหม่ทั้ง ''เร็ว'' และ ''ง่าย'' มันจึงเป็นไปได้ยากที่โลกยุคเก่าจะต้านได้ เพราะเต็มไปด้วยข้อจำกัด แม้ว่าพยายามเพิ่ม ''คุณภาพ'' อย่างถึงที่สุดแล้วก็ตาม

ตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา นิตยสารหลายฉบับที่เราคุ้นเคย ต่างทยอยแจ้งข่าวร้ายของแฟนหนังสือว่า นี่คือฉบับสุดท้ายของพวกเขาแล้ว หลังพยายามทนพิษบาดแผลมานาน

ในมุมคนทำหนังสือ จริงๆ ไม่มีใครอยากวางมือในสิ่งที่ตัวเองถนัดและรัก แต่ที่ต้องยอมแพ้ เพราะการที่จะอยู่ให้ได้ในโลกปัจจุบัน ''ความรัก'' กับ ''ธุรกิจ'' ต้องสอดคล้องไปด้วยกัน

ต้องมีเงินทุนสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการเข็นหนังสือแต่ละเล่มออกมาวางบนแผง แต่ละขั้นตอนกว่าจะเป็นรูปเล่มสวยงาม มีเนื้อหาน่าสนใจ ภาพสวยคมชัด มีราคาค่าจ้างทั้งหมด 

เมื่อแหล่งรายได้หลักจากโฆษณาย้ายแพลตฟอร์มไปสู่โลกออนไลน์ ''น้ำเลี้ยง'' สำหรับหนังสือต่างๆ เหล่านี้จึงหดหายไป...แทบไม่เหลือ 

บางสำนักพิมพ์ต้อง ''ควักเนื้อ'' เพื่อประคับประคองในสิ่งที่ตัวเองรักไปถึงมือผู้อ่านให้ได้นานที่สุด 

หากไม่นับเรื่องธุรกิจแล้ว จุดยืนในความเชื่ออย่างหนึ่งที่เหมือนกันของคนทำหนังสือ (คุณภาพ) คือ อยากส่งต่อสิ่งที่ดี และมีประโยชน์ไปยังผู้อ่าน

โลกของการอ่าน สร้างสิ่งที่ดีเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความรู้ และจินตนาการที่นำไปต่อยอดไม่รู้จบ 

ไม่เกินเลยหากจะบอกว่า หนังสือ ''สร้างคน'' ได้จริง บางคนเจอจุดเปลี่ยนในชีวิตเพียงแค่ประโยคไม่กี่ประโยค ที่กระแทกเข้าไปจุกอกข้างใน หรือบทความไม่กี่บรรทัดก็สามารถเปลี่ยนมุมมองการใช้ชีวิตไปตลอดกาล

ในมุมของผู้อ่าน หนังสือช่วยเปิดโลกให้กว้างมากขึ้น เริ่มจากเรื่องที่สนใจก่อนขยายตัวไปยังเรื่องอื่นๆ ซึ่งทุกเรื่องบนโลกใบนี้ต่างเกี่ยวข้องกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

ก่อนโลกโซเชียลเข้ามาเบียดพื้นที่การอ่านในรูปแบบเดิมๆ ทุกคนรู้ดีว่าหนังสือคือสิ่งทรงคุณค่า มีความผูกพันในแบบที่สื่อยุคใหม่ทำไม่ได้

หนังสืออาจมีข้อจำกัดในตัวเองหลายอย่าง หากเทียบกับช่องทางสื่อแบบใหม่ แต่ความรู้และจินตนาการที่ได้ ''ฝังแน่น'' อยู่ในตัวเรามากกว่า

สื่อแบบใหม่ ทั้งอินเทอร์เน็ต, เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, ไลน์ ฯลฯ เข้าถึงเราได้ง่าย จนบางครั้ง ''ง่ายเกินไป'' ข้อมูลข่าวสารทะลักเข้าหาตัวเราจากทุกทิศทาง จนไม่รู้ว่าอันไหนจริง-อันไหนหลอก เพราะทุกคนสามารถเป็นผู้ส่งสารได้หมด 

ทุกอย่างรวดเร็ว จนเรารู้สึกว่าขาด ''คุณค่า'' และไม่น่าเชื่อถือ บางคนอ่านแล้วคิดตาม ''น้อยกว่า'' ที่แสดงความเห็นออกไป การที่โลกยุคใหม่เอื้อให้มีปฏิกิริยาโต้ตอบได้ในทันที ก็ทำให้หลายคนไม่เคยตั้งคำถามกับสิ่งที่ได้อ่านได้เห็น ไม่เคยกรองข้อมูลก่อนเสพเข้าไป 

โดยส่วนตัวคนเขียน ไม่เคยตั้งแง่กับข้อดีของสื่อยุคใหม่ เพราะยอมรับว่ามีประโยชน์มากมาย หากรู้จัก ''เล่น'' ให้เป็น เพียงแต่ว่าต้องระมัดระวังในการรับข้อมูลมากยิ่งขึ้น พยายามเตือนสติตัวเองอยู่ตลอดเวลาไม่ให้หลงใหลไปกับภาพเคลื่อนไหว หรืออินโฟกราฟิกสวยๆ จนลืมไปว่าเนื้อหาแท้จริงคืออะไร

เราต้องปรับตัวทั้งคนทำหนังสือและคนอ่านหนังสือ แต่คนที่ไม่ได้ปรับตัวก็ไม่ได้หมายความว่า ''ตกยุค'' เนื่องจากผู้คนเหล่านั้นพอใจแล้วกับความสุขในแบบเดิม และไม่ได้ให้ราคาค่างวดกับความฉาบฉวย มาเร็วไปเร็วของสื่อใหม่

เมื่อตัดเรื่องปากท้องออกไป ความสุขของคนเราจึงอยู่เหนือเรื่องเงินๆ ทองๆ เหมือนคนชอบฟังเพลงเก่าที่รื่นรมย์กับชีวิตได้ง่ายดาย ไม่ต้องวิ่งตามว่าตอนนี้เขากำลังฮิตอะไรกันตอนนี้ เช่นเดียวกับนักดนตรี ที่รู้ทั้งรู้ว่าหากเล่นเพลงใหม่ เล่นตามกระแสก็อาจได้งานมากขึ้น แต่พวกเขายังมีจุดยืนตัวเองที่ตีคู่ไปกับความชอบส่วนตัว

เช่นเดียวกับคนที่ชอบฟุตบอล นอกจากการได้ดูถ่ายทอดสดแล้ว การได้อ่านเบื้องหน้า เบื้องหลัง และบทวิเคราะห์ต่างๆ ก็เป็นความสุขอีกอย่าง 

เชื่อว่าหลายคนที่หลงรักเกมลูกหนัง โดยเฉพาะติดตามมาเกินสิบปี ย่อมผูกพันกับการอ่านหนังสือฟุตบอล และโลดแล่นไปกับจินตนาการที่เกิดขึ้นจากตัวอักษร 

ก่อนหน้านี้ การถ่ายทอดสดฟุตบอลไม่ได้มากมายมีให้เลือกดูตามใจชอบเพียงกระดิกนิ้วเลื่อนหา หนังสือจึงเป็นสิ่งที่คอยเติมเต็ม ''ความยาก'' ได้อย่างดีที่สุด

เราไม่ได้เติบโตทันเห็นนักฟุตบอลดังในอดีตร่ายลีลาได้ทุกคน ทุกความทรงจำจึงรับรู้ผ่านตัวหนังสือและรูปภาพแทบทั้งสิ้น 

ได้นึกภาพตามถ้อยคำบนหน้ากระดาษถึงความยิ่งใหญ่ของเด็ก 17 ปี อย่าง เปเล่ ที่ได้ไปลุยฟุตบอลโลก หรือ ดีเอโก้ มาราโดน่า คนเดียวพาทีมเป็นแชมป์ ไหนจะ ''ครัฟฟ์เทิร์น'' อันสุดคลาสสิกของ โยฮัน ครัฟฟ์ 

ทุกอย่างฝังอยู่ในหัวมาหลายปี มีภาพเคลื่อนไหวผ่านหูผ่านตาบ้าง ตามรายงานข่าวทีวี แต่ก็ไม่ได้มากมายแบบที่เลือกจิ้มตามใจชอบผ่านยูทูบ หรือสื่ออื่นอย่างทุกวันนี้ 

ขออนุญาตเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง คนที่ชอบฟุตบอลในยุค 80-90 เป็นต้นมา ล้วนแต่รักและหลงใหลหนังสือฟุตบอลไปด้วย หลายคนเก็บรักษาหนังสือที่ตั้งใจไปรอซื้อหน้าแผงตอนเด็กๆ เอาไว้เป็นอย่างดี วันว่าง บรรยากาศสบายๆ ก็รื้อเอาความทรงจำตรงนี้ขึ้นมาอิ่มเอม มีความสุขแบบไม่ต้องเสียเงินทองเพิ่มเติม 

เมื่อหนังสือหลากหลายหัวต้องพากันปิดตัวลง ซึ่งแน่นอนว่า ''หนังสือบอล'' ก็คือหนึ่งในนั้น เราจึงอดใจหายไม่ได้ เหมือนสูญเสียความผูกพันอะไรบางอย่างไป

ช่างบังเอิญกับในปีนี้ที่นักฟุตบอลหลายคนตัดสินใจบอกลาอาชีพของตัวเอง หลังยืนหยัดบนสนามหญ้ามาสิบกว่าปี หรือบางคนก็เกินยี่สิบปี

ชาบี อลอนโซ่, ฟิลิปป์ ลาห์ม, แฟร้งค์ แลมพาร์ด, ชาบี เอร์นานเดซ, ฟรานเชสโก้ ต๊อตติ, จานลุยจิ บุฟฟ่อน, อันเดรีย ปีร์โล่, เดิร์ค เค้าท์, ดิดิเย่ร์ ดร็อกบา, โทมัส โรซิชกี้ และ กาก้า 

เกือบทุกคนสิ้นสุดบทบาทของตัวเองในปีนี้ หรืออย่างบุฟฟ่อนก็แพลนเอาไว้แล้วว่า ในปีหน้าคงถึงเวลาอันสมควร 

ที่ไล่ชื่อมาทั้งหมด เหมือนสัญลักษณ์คาบเกี่ยวระหว่างโลกของสื่อยุคเก่าอย่างหนังสือ กับโลกของสื่อยุคใหม่ 

ถ้าไม่ใช่การถ่ายทอดสด เราก็ติดตามผลงานเพิ่มเติมของบรรดาตำนานที่ว่านี้ผ่านข่าวและคอลัมน์บนหน้ากระดาษ ก่อนเข้าสู่ยุคโซเชียลที่วีรกรรมบนสนามของพวกเขายังคงน่าทึ่งและทรงคุณค่า

เมื่อปี 2018 คืบคลานเข้ามา เรื่องราวของยอดแข้งเหล่านี้จะกลายเป็นอดีต เช่นเดียวกับหนังสืออีกหลายเล่มที่ไม่อยู่บนแผงอีกแล้ว

อดใจหายไม่ได้จริงๆ กับความสุขในวันวานที่กำลังผ่านไป


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด