:::     :::

แฟชั่นความทรงจำกับ "ทีมชาติแคเมอรูน"

วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม 2564 คอลัมน์ Zero to Hero โดย บังคุง
2,535
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
วิวัฒนาการของเสื้อฟุตบอล เปลี่ยนแปลงไปตามยุคและสมัย

โดยตั้งแต่อดีต จวบจนถึงปัจจุบัน เสื้อฟุตบอลนับร้อยนับพัน ผ่านสายตาเรามามากมาย แน่นอนว่า มันก็มีทั้งที่น่าจดจำในความทรงจำ และถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา นี่ถือเป็นความจริงเกี่ยวกับเครื่องแบบด้านลูกหนัง 


กระนั้น หนึ่งในเสื้อบอลที่โดดเด่น และยังเต็มไปด้วยเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ซึ่งยังคงถูกพูดถึงทุกวันนี้ นั่นคือเสื้อแข่งของทีมชาติแคเมอรูน ในช่วงต้นยุคมิลเลนเนี่ยม นั่นเพราะว่าพวกเขาออกแบบมาในรูปแบบของเสื้อแขนกุด 


ท่ามกลางความแปลกใหม่ และแหวกแนวในสมัยนั้น นอกจากจะเป็นการเรียกความสนใจจากแฟนบอลทั่วโลกแล้ว มันยังตามมาด้วยเรื่องราวดราม่าอย่างมากมาย โดยเฉพาะการถูกลงดาบจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือว่าฟีฟ่า

ย้อนกลับไปเดือนมกราคม ปี 2002 ศึกแอฟริกัน เนชั่นส์ คัพหรือว่าในสมัยนี้ในชื่อ “แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ที่ประเทศมาลี รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ เกิดเรื่องที่ฮือฮาในวงการของเสื้อฟุตบอลขึ้น 


เมื่อทีมชาติแคเมอรูน เดินทางมาแข่งขัน พร้อมกับซูเปอร์สตาร์เต็มทีม ไม่ว่าจะเป็น ซามูเอล เอโต้, มาร์ค วิเวียน โฟเอ้, เฌเรมี่, ริโกแบร์ ซง และปิแอร์ โวเม่ พร้อมกับเสื้อแข่งแบบแขนกุด ที่ออกแบบโดยพูม่าแบรนด์ดังที่ขึ้นชื่อ ในการผลิตชุดให้กับทีมจากแถบทวีปแอฟริกา 


เสื้อแขนกุด ที่มาในโทนสีเขียว ที่ถูกตัดสลับด้วย สีแดง และสีเหลือง ซึ่งเป็นสีประจำชาติของแคเมอรูน ถูกพูดถึงในวงกว้าง โดยแฟนบอลหลายคนต่างอยากได้เสื้อตัวนี้มาครอบครอง เพราะเป็นแนวความคิดที่ไม่เคยมีใครกล้าคิดทำมาก่อน ซึ่งส่วนมาก มันมักใช้ในชุดฝึกซ้อมเสียมากกว่า


นอกจากนี้ เสื้อแขนกุดดังกล่าว ยังถูกมองว่า เหมาะสมกับการเล่นฟุตบอล ในสภาพอากาศของทวีปแอฟริกา ที่ขึ้นชื่อเรื่องของความร้อนอบอ้าว ซึ่งมันทำหน้าที่ระบายอากาศ และเหงื่อของเหล่านักฟุตบอล พร้อมกันนี้ ยังช่วยเหลือในเรื่องของการเคลื่อนไหวร่างกาย และความคล่องตัวมากกว่าเสื้อแบบธรรมดาอีกด้วย 

ทั้งนี้ เสื้อแขนกุดกลายเป็นโด่งดังมากกว่าเดิม เมื่อทีมชาติแคเมอรูน สวมไปจนคว้าแชมป์ในปีดังกล่าวมาครองเป็นผลสำเร็จ จนกลายเป็นกระแส และภาพจำในที่สุด ทว่าท่ามกลางความสนใจ และการพูดถึงจากคนส่วนมาก สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า กลับไม่เห็นด้วยกับเสื้อแขนกุดดังกล่าว 


ย้อนกลับไปเวลานั้น ฟีฟ่า ทำการเล็งเห็นแล้วว่า นี่ไม่ใช่เสื้อฟุตบอลตามปกติ ที่ทีมทั่วไปเลือกที่จะใช้กัน แต่มันออกแนวเป็นแบบเสื้อกล้ามเสียมากกว่า พร้อมกันนี้ ฟีฟ่า ยังมองว่า นี่คือแผนการตลาด และแนวทางการหาเงินเข้ากระเป๋าของแบรนด์กีฬา มากกว่าจะเป็นการสนับสนุนเสื้อแข่งเพียงอย่างเดียว 


สิ่งเหล่านั้น เปรียบเหมือนคำเตือนแรกของฟีฟ่า ที่ส่งไปยังทีมชาติแคเมอรูน และแบรนด์ผู้ผลิตอย่างพูม่า พร้อมกับเป็นการส่งสัญญาณแล้วว่า ศึกฟุตบอลโลก 2002 ที่กำลังจะจัดขึ้นในปีเดียวกัน พลพรรคหมอผีห้ามใช้เครื่องแบบแขนกุดลงแข่งขันอย่างเด็ดขาด 

นั่นถือเป็นเรี่องที่ทีมชาติแคเมอรูน และพูม่า ต้องเก็บไปคิด และต้องหาทางออกถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ผลสุดท้าย ศึกฟุตบอลโลก 2002 รอบสุดท้าย พวกเขาตัดสินใจใช้แพทเทิร์นเสื้อแขนกุดเหมือนเดิม เพียงแค่เติมส่วนแขนสีดำลงไป เพื่อที่จะไม่ให้เป็นการแหวกกฏจนเกินไป 


หลังจากนั้นอีก 2 ปี ทีมชาติแคเมอรูน และแบรนด์พูม่า เหมือนจะแอบเอาคืนฟีฟ่าเล็กๆ เมื่อพวกเขาผลิตชุดแข่งแบบใหม่ออกมาอีก เพื่อเตรียมลุยศึกแอฟริกัน เนชั่นส์ คัพ 2004 เมื่อทำเสื้อกับกางเกง และเย็บเป็นชิ้นส่วนเดียวกัน หรือที่คุ้นกันในนามจัมพ์สูท 


ชุดดังกล่าว ทำให้ทีมชาติแคเมอรูน กับเรื่องของชุดแข่ง ถูกจับขึ้นมาพูดถึงกันอีกครั้ง แน่นอนว่า มีทั้งผู้ที่เห็นด้วย เพราะมองว่าเป็นแฟชั่น บวกสีสันอย่างหนึ่ง รวมถึงผู้ที่ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่ามันไม่เหมือนชาวบ้านจนเกินไปนั่นเอง 


ผลของการท้าทายครั้งนั้น ส่งผลให้ทีมชาติแคเมอรูน โดนฟีฟ่า ทำการขู่ว่าจะสั่งปรับคะแนน 6 แต้ม ในศึกฟุตบอลโลก 2006 รอบคัดเลือก และปรับเงินอีกหลายล้านบาทเลยทีเดียว นั่นทำให้การออกแบบชุดแข่งแบบเสื้อแขนกุด และแบบจัมพ์สูท หายไปตามกาลเวลา ทิ้งเอาไว้เพียงความทรงจำ

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด