"การเดินทาง" ฟุตบอลเวิลด์ คัพ

สิ่งที่จะขาดไปไม่ได้เลย นั่นคือ “ลูกฟุตบอล” นี่ถือเป็นเอกลักษณ์ และมนต์เสน่ห์ ที่แฟนบอลหลายคน ตั้งหน้าตั้วตารอชม พร้อมกับเป็นภาพจำที่สร้างเรื่องราวให้กับการแข่งขันฟุตบอล ทัวร์นาเมนต์ที่ยิ่งใหญ่สุดในโลก ให้มีความหมายที่แสนพิเศษมากขึ้นกว่าเดิม
ตามประวัติศาสตร์ของฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย “อาดิดาส” ถือเป็นแบรนด์แรก และแบรนด์เดียว จนถึงเวลานี้ ที่กลายมาเป็นผู้สนับสนุนด้านลูกฟุตบอลอย่างเป็นทางการ หรือตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา พร้อมกับมีชื่อรุ่น และเทคโนโลยีที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละครั้ง
จากการบันทึกเอาไว้ “อาดิดาส” เน้นการออกแบบลูกฟุตบอล ที่ใช้ในเวิลด์ คัพ รอบสุดท้าย ด้วยการใช้โทนสีขาวดำเป็นหลัก ตั้งแต่รุ่น “เทลสตาร์” ในช่วงปี 1970 ตามมาด้วย “เทลสตาร์ เดอร์ลาสต์” ในปี 1974, “แทงโก้” ในปี 1978, “แทงโก้ เอสปันญ่า” ในปี 1982, “อัซเตก้า” ในปี 1986, “เอตรุสโก้” ในปี 1990 และ “กูเอสตร้า” ในปี 1994
ก่อนที่ปี 1998 จนถึงครั้งล่าสุดในปี 2018 “อาดิดาส” มีการเพิ่มสีสัน และเทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้น ผ่านรุ่นดังอย่าง “ฟีเวอร์โนว่า” ในปี 2002, “ทีมไกส์ต” ในปี 2006, “จาบูลลานี่” ในปี 2010, “บราซูก้า” ในปี 2014 และ “เทลสตาร์ 18” ในปี 2018 อย่างไรก็ตาม ไม่เคยมีลูกฟุตบอลลูกไหน ในศึกฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ที่ผลิตออกมาแบบคำนึงถึงธรรมชาติแบบ 100 เปอร์เซนต์
กระทั่งการมาของ “อัล ริห์ลา” ลูกฟุตบอลที่ใช้ในศึกเวิลด์ คัพ 2022 ที่ประเทศกาตาร์ โดยถือเป็นครั้งที่ 14 แล้ว ที่แบรนด์ “อาดิดาส” ช่วยออกแบบลูกฟุตบอลมาให้ ซึ่งชื่ออย่างเป็นทางการของ “อัล ริห์ลา” นำมาจากภาษาอาหรับ หากแปลเป็นภาษาไทย ก็มีความหมายว่า “การเดินทาง”
นอกจากเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยให้ลูกฟุตบอล สามารถเพิ่มความแม่นยำ และความเร็วในการเล่นแล้ว เรื่องของการผลิต ที่คำนึงถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญของภาวะโลกร้อน ถือเป็นสิ่งที่ “อัล ริห์ลา” ถูกพูดถึงกันในวงกว้าง เพราะนี่คือการปฏิวัติวงการ และการผลิตลูกฟุตบอลขึ้นมาสักหนึ่งลูกไปอย่างสิ้นเชิง
การออกแบบ “อาดิดาส” ทำการใช้สีขาวไข่มุก แทรกมาด้วยสีรุ้ง รับแรงบันดาลใจจากธงชาติ, สถาปัตยกรรม และเรือใบ อันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศกาตาร์ นอกจากนี้ “อัล ริห์ลา” ยังถูกออกแบบอย่างพิถีพิถัน และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย ผ่านการใช้น้ำหมึก และกาว ที่มีส่วนประกอบจากน้ำเป็นหลัก ถือเป็นลูกฟุตบอลลูกแรกของการแข่งขันฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ที่ใช้การผลิตในลักษณะนี้
พร้อมกันนี้ “อัล ริห์ลา” ยังคงมีความพิเศษอื่น เมื่อเป็นลูกฟุตบอลที่ไม่เคยผ่านขั้นตอนการผลิต ที่สร้างสาร “CFC” หรือเรียกอีกอย่างว่า สารเคมีที่ระเหยออกมา ก่อนจะสร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเรื่องของ “ภาวะเรือนกระจก” แถมกระบวนการผลิตดังกล่าวนั้น “อาดิดาส” ยังคำนึงถึงการสร้างขยะออกมาให้น้อยที่สุดอีกด้วย
นอกจากเรื่องของการรักษ์โลกแล้ว อีกหนึ่งเรื่องราวที่น่าสนใจของ “อัล ริห์ลา” นั่นคือเรื่องของการสร้างประโยชน์ต่อสังคม นี่ถือว่าเป็นเรื่องที่ “อาดิดาส“ นำการตลาด มาต่อยอดเข้ากับเรื่องการกุศลอย่างน่าชื่นชม ผู้ที่เป็นเจ้าของลูกฟุตบอลรุ่นนี้ สามารถกลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้
กล่าวคือ 1% ของยอดขายลูกฟุตบอล “อัล ริห์ลา” (หลังจากที่หักค่าใช้จ่ายออกแล้วฉ ทั้งหมดจะถูกนำไปใช้ในการดำเนินการขององค์กร ที่รู้จักกันในนามของ “Common Goal” เพื่อเป็นการพัฒนาสังคมให้น่าอยู่มากขึ้น พร้อมกับเป็นการส่งเสริมกลุ่มนักฟุตบอลระดับรากหญ้า จากทั่วทุกมุมโลกต่อไป