[Tactical Analysis] "TOUR DE FRANCE" แทคติกพาทัวร์ของฝรั่งเศส
ว่ากันด้วยเรื่องของแทคติกหลักๆของคู่ชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก หลังจากที่นำเสนอของอาร์เจนติน่าไปแล้วในลิงค์นี้ https://www.thsport.com/column-6723.html คราวนี้ก็ถึงคราวของทีมชาติฝรั่งเศสกันบ้าง ด้วยเส้นทางที่พวกเขาผ่านโปแลนด์มาในรอบ 16 ทีมสุดท้ายด้วยสกอร์ 3-1 / รอบ 8 ทีมเจองานหนักกับทีมชาติอังกฤษ และเฉือนแบบหวุดหวิดมา 2-1 และล่าสุดเอาชนะโมร็อกโกด้วยลูกยิงในจังหวะโอเพ่นเพลย์สวยๆไป 2-0
เส้นทางของทีมตราไก่ดูเหมือนว่าจะเล่นดีและโชว์ฟอร์มแข็งแกร่งมาตั้งแต่รอบแรก และเต็มไปด้วยนักเตะระดับท็อป ที่หลายๆคนคงจะเห็นฝีเท้าของ "คีลิยัน เอ็มบาปเป้" กันอย่างชัดเจนว่าสร้างความแตกต่างในแนวรุกอย่างมาก และเป็นเด็กฝีเท้านรกที่กองหลังหลายๆคนไม่อยากจะไปวิ่งสปีดตามสักเท่าไหร่
แต่ที่จริงแล้ว นอกเหนือจากตัวอีดิตอย่างเอ็มบาปเป้ ทีมชาติฝรั่งเศสมีระบบการเล่นที่น่าสนใจ จากทีมเวิร์คและบอลซัพพอร์ตที่แข็งแกร่ง ทำให้นักเตะหลายๆคนได้ใช้ความสามารถออกมาอย่างน่าทึ่งสุดๆ
เอ็มบาปเป้น่ะใช่ แต่นักเตะคนอื่นๆก็ได้โชว์กันเต็มที่เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเตโอ เอร์น็องเดซ, อูเรเลียง ชูอาเมนี่ และนักเตะที่ได้รับคำชมอย่างมากที่ได้รับบทบาทใหม่แถมโชว์ฟอร์มสุดยอดออกมาอย่าง อ็องตวน กรีซมันน์ ในฐานะมิดฟิลด์ตัวรุกของทีม
ทีมชาติฝรั่งเศสมีจุดแข็งที่น่าสนใจอะไรบ้างในการเล่นของพวกเขา จากแทคติกที่สังเกตในนัดที่ผ่านๆ
1.โครงสร้างการเซ็ตบอลเกมบุกของฝรั่งเศส
ภาพข้างบนนี้ภาพเดียวน่าจะอธิบายได้ว่า ทรงการเล่นพื้นฐานของฝรั่งเศสมีรูปร่างหน้าตาเป็นยังไง แยกย่อยได้ดังนี้ในภาคของการครองบอลบุก (Phase I : In possession)
1.1 ฌูลส์ คุนเด้ จะทำการหุบเข้าในมากกว่าปกติ และจะไม่เติมในลักษณะของวิงแบ็ค แต่จะเข้าไปเซ็น "หลังสามเสมือน" ระหว่างที่ครองบอลบุก โดยเป็นตัวถ่ายบอลด้านข้างของเซ็นเตอร์สองคน และคอยซัพพอร์ตมิดฟิลด์ หรือตัวรุกในบริเวณนั้น ซึ่งส่วนใหญ่บอลจะไปอยู่ที่อ็องตวน กรีซมันน์ ซะเป็นส่วนใหญ่ ในภาพนี้ทางซ้ายจะเห็นไลน์หลังสามชัดเจน ซึ่งแบ็คขวาจะเน้นเรื่องของเกมรับและแพ็คแดนกลางให้แน่น
1.2 ฝั่งตรงกันข้าม เตโอ เอร์น็องเดซ จะค่อนข้างชัดเจนว่าเติมสูงขึ้นกว่าฝั่งของคุนเด้ และมีบทบาทในภาคการทำเกมรุกที่เด่นชัด เพราะเนื่องจากว่า "คีย์แมน" เกมรุกของฝรั่งเศสอยู่ฝั่งซ้าย นั่นก็คือเอ็มบาปเป้นั่นเอง แบ็คซ้ายจึงจำเป็นต้องเติมเกมรุกเยอะกว่าปกติ เพื่อที่จะซัพพอร์ตเกมของเอ็มบาปเป้ให้ถึงที่สุด ทั้งในกรณีที่ดันสูงขึ้นไปในจังหวะCounter-attack แล้วแนวรุกเกิดการเสียบอล เตโอก็จะตัดเกมให้ทีมชาติฝรั่งเศสด้วย
หรือถ้าครองบอลหาช่องเจาะอยู่ เขาจะยืนคุมวงนอกของเกมริมเส้น ในลักษณะของการเล่นชิดเส้นข้าง เพื่อให้เอ็มบาปเป้ "หุบเข้าใน" ได้ยิงในมุมถนัด และเข้าใกล้กรอบเขตโทษเพื่อสร้างความอันตราย
เตโอกับเป้จะเล่นในลักษณะของตัวริมเส้นคู่กันตลอดเวลา และเป็นแบ็คอย่างเขาที่คอยเล่นในมิติเกมซัพพอร์ตปีกตัวรุกหลักของทีม
1.3 ชูอาเมนี่ ยามที่ทีมกำลังเล่นเกมรุก เขาจะกลายเป็น Single Pivot ยืนห้อยปักกลางต่ำอยู่คนเดียวแบบนี้ตามปกติ ไม่ว่าจะก่อนหน้านี้ที่มีป็อกบาเล่นอยู่ข้างหน้า เขาจะยืนต่ำแบบนี้ตัวเดียวเสมอในบทบาท Defensive Midfielder ที่นอกจากจะตัดเกมแล้ว ชูอาเมนี่ยังเป็นตัวโฮลดิ้งที่ทำหน้าที่ครองบอล และเป็นตัวสตาร์ทการ build-up จากแดนกลางด้วย
โดยที่มิดฟิลด์คู่เขาอีกหนึ่งคน ไม่ว่าจะเป็นราบิโอต์ หรือ โฟฟาน่า จะดันเกมขึ้นสูงไปยืนเป็นคู่ 8s กับกรีซมันน์อยู่เสมอในเกมรุก เพื่อช่วยซัพพอร์ตสองคีย์แมน ทั้งกรีซมันน์ และ เอ็มบาปเป้ ในพื้นที่แถวสอง
1.4 อ็องตวน กรีซมันน์ จริงๆตำแหน่งกลางรุกที่เขาเล่นเยื้องมาทางขวานั้น ตำแหน่งการยืนมันก็แทบจะไม่ต่างอะไรกับการเล่นปีกขวาแบบ Inside Forward ตัดเข้าในมา เพราะตรงนั้นคือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของตัวรุกอยู่แล้ว ในบริเวณฮาล์ฟสเปซ
กรีซมันน์จะเล่นในลักษณะเป็นมิดฟิลด์ตัวรุกหลักของทีม ที่เติมการเชื่อมเกม ออกบอลบุกในแดนกลาง เพื่อแจกจ่ายให้กับตัวแดนหน้าสามตัว ไม่ว่าจะเป็นน้องเป้ ชิรูด์ หรือ เด็มเบเล่ก็ตาม
และแน่นอน ภาคเกมรับของกรีซมันน์ เป็นเหมือนกำแพงด่านแรกอย่างแท้จริง ที่คู่ต่อสู้คิดจะบุกจากการเซ็ตบอลด้วยแผงกองหลัง หรือเล่นเพลย์เมคเกอร์ตัวลึก จะเจอการเข้าแทคเกิลและสกรีนงานจากกรีซมันน์แน่นอน
เกมสวนกลับของคู่แข่งเขาก็จะเป็นตัวเล่น Counter-pressing แดนบนด้วยเช่นกัน ถ้ากรีซมันน์ไม่เสียใบเหลืองเร็ว คู่แข่งลำบากแน่นอน
1.5 ตัวที่ Isolate โดดเดี่ยวที่สุดของทีม คืออุสมาน เด็มเบเล่ ที่ปีกขวาของฝรั่งเศสมักจะมีบทบาทไม่มากเท่าไหร่ อย่างที่เราเห็นๆกันว่า ถ้าเป็นเกมสวนกลับ เอ็มบาปเป้คือตัวสปีดพาบอลขึ้นไปโจมตีด้วยความเร็วที่ไม่มีใครตามทัน ฝั่งขวาบอลจะไม่ขึ้นสักเท่าไหร่ สาเหตุเนื่องจากข้อแรก ที่ "ฌูลส์ คุนเด้" จะหุบเข้าใน เซ็ตระบบหลังสามเสมือน ทำให้เด็มเบเล่เป็นตัวที่ต้องเล่นอย่างโดดเดี่ยวมากๆ เพราะไม่มีแบ็คเติม และเกมไม่ค่อยขึ้นทางเขาสักเท่าไหร่
แต่ปีกฝั่งนี้จะเป็นตัวที่ "ขึงริมเส้นขวา" เป็นหลักอยู่ตัวเดียว จะไม่หุบเข้าในมากนัก ขณะที่ฝั่งเอ็มบาปเป้ ปีกซ้ายจะหุบเข้าในมากกว่า
1.6 สุดท้าย โอลิวิเยร์ ชิรูด์ จะเป็นกองหน้า Target man ที่บางครั้งอาจจำเป็นต้องเล่น Pressing Forward บ้างเพื่อคอยไล่จี้เซ็นเตอร์แบ็คของคู่แข่ง และเขาคือตัวค้ำที่ฝากความหวังได้ ในวัย 36 ปี ประสบการณ์ของชิรูด์โชกโชน และสามารถรับผิดชอบแดนหน้าคนเดียวได้อย่างสบายๆ ทั้งการเก็บบอล และการทำประตู
กองหน้าโคตร Overrated ที่สำคัญกับทีมชาติฝรั่งเศสมากกว่าที่ใครคิด
อนึ่ง นอกจากแบ็คสองฝั่งแล้ว เซ็นเตอร์สองคนของฝรั่งเศส ทั้งวาราน โคนาเต้ รวมถึงอูปาเมกาโน่ ทุกตัวเป็น Ball-playing defender ที่สามารถครองบอล เซ็ตบอลจากแดนหลัง แกะเพรสสูงของคู่แข่ง และรวมถึงออกบอลฆ่าในจังหวะ Play through balls ได้อีกด้วย
จากภาพข้างล่างนี้ ประตู 1-0 เริ่มต้นจากคีย์พาสลูกนี้ของ "ราฟาเอล วาราน" กองหลังแมนยูไนเต็ดที่เด็กผีภาคภูมิใจ นี่คือบอลฆ่าที่ทำลาย DEF Line ทั้งสามชั้นของโมร็อกโก หลุดขึ้นไปในจังหวะเดียว ซึ่งต่อมา กรีซมันน์ และ บาปเป้ ที่สกิลทักษะสูงอยู่แล้ว ก็สามารถโจมตีต่อ จนเปิดโอกาสหลุดไปถึงเตโอที่ตามมาซัพพอร์ตที่เสาไกลได้สำเร็จ2. Team Player ผู้ปิดทองหลังพระสู่ความเหนียวแน่นของระบบทีม
อย่างที่กล่าวมานั้น ถ้าสังเกตดีๆเราจะเห็นเลยว่า ท่ามกลางสปอตไลท์ที่ส่องไปหาเอ็มบาปเป้ เราเจอคนเล่นเกมปิดทองหลังพระอยู่ถึง 4 ตัวเต็มๆที่เป็นตัวซัพพอร์ตของระบบทีมที่แข็งแกร่ง
-ชูอาเมนี่ ที่คุมกลางต่ำได้คนเดียว
-ชิรูด์ที่คุมแดนหน้าคนเดียวอย่างแข็งโป๊ก
-เตโอ ซัพพอร์ตและป้อนบอลให้กับเอ็มบาปเป้ได้เล่นสวนกลับ หรือได้บอลในแดน Final Third
-กรีซมันน์ เล่นเกมรับ เชื่อมต่อเกมรุก ทำทุกอย่างในแดนกลางด้วยความขยันแบบสุดๆ
อ็องตวน กรีซมันน์ ถือเป็นนักเตะคนสำคัญในเกมแดนกลางที่เล่นสอดอยู่ในช่องว่างระหว่างมิดฟิลด์กับกองหลังได้อย่างดีเยี่ยม ทักษะความสามารถเฉพาะตัวสูงอยู่แล้ว เขาสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ ไม่ได้จำกัดว่าต้องอยู่ซีกฝั่งขวาอย่างเดียว แต่เคลื่อนที่ไปรอบๆ เฉียดๆจะเป็น Roaming Playmaker อยู่แล้ว (ถ้าลงต่ำมาเล่นเกมรับถึงแผงหลังแบบบรูโน่ก็ใช่เลย)
การเคลื่อนที่ของเขาจะส่งผลต่อการเลือกฝั่งเกมบุกของฝรั่งเศส โดย Task งานที่แตกต่างกัน หลายๆครั้งบอลจะขึ้นที่บาปเป้ก่อน แต่การที่ทีมชาติฝรั่งเศส "เบ้ซ้าย" ในลักษณะดังกล่าว มันทำให้นักเตะอย่างน้องเด็ม ที่ประจำอยู่ซีกขวาแบบเหงาๆนั้น บางครั้งมีประโยชน์ในบางสถานการณ์ เช่นการแก้เพรส และวิ่งเติมหลุดเดี่ยวขึ้นมา เหมือนอย่างที่ Kolo Muani ตัวสำรองลงมาแล้วได้ยิงประตูจากสัมผัสเดียวเลย นั่นก็เป็นประโยชน์ของการ Isolated ทางฝั่งขวาเหมือนกัน แนวรับคู่แข่งจะป้องกันได้ยากถ้าเจอตัวเติมจากเสาไกลด้านขวา
เราไม่ต้องพูดถึงคู่เซ็นเตอร์แบ็คฝรั่งเศสอยู่แล้ว ไม่ว่าใครจะลงก็โหดทั้งนั้น ไม่ว่าจะอูปาเมกาโน่ / วาราน / โกนาเต้ ทุกคนฟอร์มพีคหมด ต่อให้มีใครมีปัญหาบาดเจ็บ ก็จะมีตัวเล่นแทนเสมอ ซึ่งต้องชมว่า "แบ็ค" สองข้างของฝรั่งเศส อยู่ในฟอร์มดีโคตรๆทั้งคู่ ไม่ว่าจะเตโอ หรือ คุนเด้ก็ตาม มันทำให้งานเกมรับถูกสกรีนไปเยอะ ทั้งจากแบ็ค และจากกลางรับอย่างชูอาเมนี่
ทำให้เมื่อบอลผ่านเข้ามา ก็จะต้องเจอกำแพงเทพอย่างวาราน หรือโกนาเต้ในวันที่ท็อปฟอร์มเหมือนเกมที่แล้ว
และซ้ำร้ายไปกว่านั้น ต่อให้ทะลุ Defensive Line มาได้ทั้งแผง คุณยังต้องเจอกับ "อูโก้ ญอริส" อีกหนึ่งรายที่ฟอร์มเทพมากในฟุตบอลโลกครั้งนี้ เก๋าเกม นิ่ง และมือเหนียวยังกะยักษ์กะมาร
3. "ตูร์ เดอ ฟรองซ์" เกมCounter-attack ที่นำคณะพาทัวร์โดย "ปีศาจ" อย่างเอ็มบาปเป้
ข้อนี้ต้องคุยกันให้ละเอียดเลยว่า พวกเขาเป็นทีมที่มีเปอร์เซ็นต์การครองบอลน้อยมากทีมหนึ่ง หากนับกับบรรยายักษ์ใหญ่ในฟุตบอลโลก ทีมชาติฝรั่งเศสครองบอลเฉลี่ยเพียงแค่ 51.97%
จากระบบพื้นฐาน 4-2-3-1 ที่จะกลายเป็นระบบ Asymmetric ที่ยืนกันไม่สมดุลทันทีอย่างที่กล่าวมาแล้วในข้อหนึ่ง ด้วยการเบ้ซ้ายและทิ้งขวาไว้โดดเดี่ยว ภาพข้างล่างนี้คือ Passing Network ในเกมฝรั่งเศส ที่เจอกับโมร็อกโก หลักๆก็เป็นประมาณนี้ คือเอ็มบาปเป้จะยืนสูงริมเส้นมากๆ โดยที่การเซ็ตบอลจะอยู่ที่ DM + หลังสามคนที่เป็น 2CB / 1RB หุบเข้ามาเล่นด้วยกันเป็นฐาน
ตำแหน่งการยืนของเอ็มบาปเป้ ชัดเจนซะยิ่งกว่าอะไรว่า นั่นคือตัวค้ำที่รอเล่นเกมสวนกลับเป็นหลัก คู่แข่งที่ดันเกมสูงใส่จะต้องระวังพื้นที่บริเวณนี้ให้ดีๆ ตำแหน่งมันฟ้องมากๆ
เกมสวนกลับของฝรั่งเศส ถูก "ซัพพอร์ต" เป็นอย่างดีจากทั้งแบ็คและกองกลาง เพื่อสนับสนุนให้เกมเร็วของจังหวะ Transition Play กลายเป็นอาวุธร้ายที่โจมตีได้เข้าน้ำเข้าเนื้อมาก จากความสามารถของเอ็มบาปเป้ โดยเฉพาะจังหวะที่ไม่มีบอล ตำแหน่งเฉลี่ยและพื้นที่การเล่นของเป้ จากสถิติวิเคราะห์มันค่อนข้างชัดมากอยู่แล้วว่า เขาคุมพื้นที่ริมเส้นและแดนหน้าตัวยืนสูงสุดของทีม ดูจากภาพข้างล่างนี้ได้เลย
ถ้าเป็นจังหวะที่ทีมครองบอล พื้นที่เขาจะเป็นตัวหุบเข้าใน และเคลื่อนที่น้อยลง เพราะบอลถูกกระจายแอเรียรับผิดชอบไปให้ตัตวอื่นๆอย่างสมดุลด้วย
จังหวะไม่มีบอล นักเตะแดนบนของพวกเขาจะต้องรับผิดชอบแอเรียกว้างมาก ขณะที่พอมีบอล ฟุตบอลที่ใช้พื้นที่การเล่น การเซ็ตเกมอย่างบาลานซ์จะถูกเซ็ตขึ้นมาทันที โดยสังเกตตำแหน่งของชิรูด์ที่ได้บอลอยู่ในแอเรียตรงกลางของแดนหน้าด้วยเพราะเหตุนั้นถึงได้เป็นความ "หลากหลาย" ของทีมชาติฝรั่งเศส เวลาที่ได้บอลบุก (จากภาพ In possession) ถ้าบอลเร็วลักษณะนั้นไม่ได้ผล พวกเขายังสามารถครอสบอลจากเตโอ ไปเข้าหัว Target man ที่แกร่งที่สุดคนหนึ่งในทัวร์นาเมนต์นี้อย่าง "โอลิวิเยร์ ชิรูด์" ได้อีกด้วย
เรียกง่ายๆว่า ฝรั่งเศสมีเกมรุกครบทุกมิติ ทั้งแห้งทั้งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเกมสวนกลับ ใช้สปีดความเร็วโจมตีจากริมเส้นของบาปเป้ และบอลโด่ง บอลครอสที่มีชิรูด์ค้ำตรงกลางอีก ซึ่งหัวพี่แกก็เรดาห์สุดๆ แถมลูกโหม่งยังเป็น Power Header ด้วย (โหม่งแรงชิหัย)
มันก็จริงที่พวกเขาเน้นเกมสวนกลับเป็นไฮไลท์ แต่ถ้าพูดเรื่องความครบเครื่อง ฝรั่งเศสน่าจะเป็นอีกทีมนอกจากโมร็อกโกละมั้งที่เล่นบอลโด่งได้เข้าน้ำเข้าเนื้อสุดๆ จากการมีหน้าเป้าเสาโทรเลขคอยโขกประตู ก็โมร็อกโกมี El-Nesyri ฝรั่งเศสก็มี "ท่านเทพกิราวด์" (Giroud) ตำนานผู้ทำประตูสูงสุดของทัพเลอเบลส์ ซึ่งแซงอ็องรีมาหมาดๆนั่นเอง
ภาพข้างบนนี้เป็นอีกหนึ่งTransition play ของฝรั่งเศส ที่ก่อให้เกิดประตูที่สอง ขณะที่คู่แข่งพลาดเสียบอลกลางทาง ชูอาเมนี่จ่ายบอลในที่แคบๆให้โฟฟาน่าได้ในภาพที่ 1
และจากนั้นภาพที่2 โฟฟาน่ากระชากบอลเข้าพื้นที่อันตราย เพื่อจะจ่ายต่อให้เอ็มบาปเป้เก็บบอลในพื้นที่สุดท้าย และหันหลังบังบอล(แทนการเล่นของชิรูด์) ซึ่งนั่นทำให้เกิดพื้นที่ว่างให้มาร์คุส ตูราม ได้กระชากบอลทางฝั่งซ้ายได้ (3) ก่อนจะพาบอลดึงตัวประกบ และdrawคู่แข่งให้ต้องแบ่งไปประกบเขา ในภาพที่ 4หลังจากนั้นก็เป็นช็อตที่เราจำกันได้ในภาพนี้ คงไม่ต้องบรรยาย ให้ภาพเล่าเรื่องเอง
เอ็มบาปเป้บิดตูดกระชากหนีคู่แข่งในพื้นที่แคบๆให้เห็น ด้วยควาเร็วและความคล่องตัวระดับปีศาจ ตรงนั้นไม่มีใครเอาบาปเป้อยู่ และเขาก็ยิงแฉลบจนหลุดไปถึงตัวทางขวาที่ว่างอยู่อย่าง Randal Kolo Muani ตัวสำรองที่เพิ่งลงมาสัมผัสบอลครั้งแรก และยิงเป็นประตูเลยทันทีได้สำเร็จ
4. เกมรับที่เป็น Functional Game ของฝรั่งเศส
มาดูในภาคเกมรับกันบ้าง อย่างที่เกริ่นไว้แล้วว่า ทรงการยืนขณะที่ Out of possession (Phase II) นักเตะแดนบนจะต้องรับผิดชอบพื้นที่กว้างมากๆ และเอ็มบาปเป้เป็นตัวรอสวนกลับเร็วข้างบนสุดฝั่งซ้าย
เราไม่ต้องพูดถึงเกมรับเอ็มบาปเป้เลย เพราะงั้นจุดนี้อาจจะเป็นช่องให้ "แบ็คขวา" ของคู่แข่ง เติมขึ้นมาเล่นงานแบ็คซ้ายฝรั่งเศสอย่างเตโอ ด้วยสถานการณ์ 2vs1 ได้ เพราะบาปเป้จะไม่ตามแบ็คเขาลงมาเล่นเกมรับ
แต่ ได้อย่างก็เสียอย่าง ถ้าสร้างsituation 2-1 ต่อหน้าTheo ก็ต้องเสี่ยงด้วยเช่นกันที่จะโดน Mbappé ทะลวงไส้จนเละเทะ อาจเสียหายหนักไปจนถึงเสียประตูเลยก็ได้
เรื่องของการรับมือบาปเป้นั้น เป็นสิ่งที่คู่แข่งจะต้องบาลานซ์ให้ดี เหมือนอย่างที่อังกฤษพลาดมาแล้วที่ต้องระวังเป้มาก จนเกมรุกก็ถดถอยลงไปเล็กน้อยจากริมเส้น ระวังมากไปก็ไม่ดี เพราะจะทำให้ช่องอื่นถูกเจาะแทน หรือถ้าปล่อยมากไปก็ไม่ได้อีก เพราะบาปเป้จ้องจะเล่นงานคุณอยู่ตลอดเวลา
เกมรับฝรั่งเศสหลักๆมีดังนี้ ดูจากภาพข้างบนนี้ ผู้เล่นต่างๆมี "หน้าที่" (function) ที่ต้องรับผิดชอบแตกต่างกันไป
4.1 เอ็มบาปเป้ หน้าที่คือ ไม่มีหน้าที่หลักๆในเกมรับ
อันนี้จำเป็นจริงๆ ก็คล้ายๆเคสเมสซี่เดินเล่นนั่นแหละ มันต้องเลือกระหว่างเกมรุกเกมรับ บาปเป้จะไม่ต้องมาร์คกิ้งใคร เพราะยืนแดนสูงอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องใช้พลังงานไปประกบการออกบอลจากแนวลึกของคู่แข่ง
ถ้าไม่ได้มีแบ็ค Early Cross แบบเทรนต์ ประธานเป้ก็ไม่ต้องเหนื่อยมาก
4.2 "ชิรูด์" รายนี้สำคัญมาก หน้าที่หลักของชิรูด์จะเป็นการตามไล่ man-marking วิ่งบีบนักเตะที่ยืนสูงกว่าแผงหลังคู่แข่ง นั่นก็คือ "DM" ของคู่ต่อสู้นั่นเอง ดูในภาพได้เลย
4.3 "กรีซมันน์" นี่คือตัวคีย์แมนเกมรับของฝรั่งเศส นอกจาก Defensive Line แผงสุดท้ายในพื้นที่หน้ากรอบเขตโทษ ที่เซ็นเตอร์แบ็คสองคนสำคัญมากๆ
กรีซมันน์ คือผู้เล่นที่สอดอยู่ระหว่างแผงกลางกับตัวรอด เขาจะเคลื่อนที่ไปมา เติมเป็นตัวเล่นพิเศษที่สร้างความเหนือกว่าคู่แข่ง ปรัชญา Positional Play ของฝรั่งเศสตัวที่สร้างความเหนือกว่าทั้งเกมรุกและรับ จะเป็นกรีซมันน์เสมอ (ผู้อ่านน่าจะเก็ทภาพกันแล้วว่าทำไม เจ้าอ๋องมันสำคัญขนาดนั้น)
4.4 อุสมาน เด็มเบเล่ ที่ปกติเวลาครองบอล หรือทำเกมบุก เขาจะค่อนข้าง Isolated แต่เมื่อยามเล่นเกมรับ จะเห็นได้เลยว่า พอคุนเด้ถอยต่ำลงไปแพ็คแผงหลังแล้ว ยามที่ราบิโอต์ หรือ โฟฟาน่า ถอยลงมาคัฟเวอร์แทนเอ็มบาปเป้(ที่ไม่ลงต่ำ)
เด็มเบเล่จะถอยต่ำลงมาเซ็ต "กลางสาม" ทันที (ภาพข้างบน) และคอยระมัดระวังประกบคู่แข่งในลักษณะแมนมาร์คกิ้งอย่างที่เห็นแบบตัวต่อตัว
ซึ่งเมื่อมีคู่แข่งพยายามจะโจมตี ทีมชาติฝรั่งเศสจะเน้นเกมรับแบบที่สร้างการยืนตำแหน่งที่ "Compact" เป็นอาวุธหลักที่บีบคู่แข่ง และกระชับพื้นที่ในทุกๆจุดเวลาโดนเจาะ
ยกตัวอย่างภาพข้างล่างนี้เป็นจังหวะที่โมร็อกโก กำลังจะเจาะตรงกลางใส่ฝรั่งเศส สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ระยะห่างระหว่างนักเตะ และไลน์ป้องกันทุกตัว จะบีบเข้ามาคุมพื้นที่เพื่อปิดทางเล่นทันที > ชิรูด์วิ่งบีบตัวรับผิดชอบของเขา / ชูอาเมนี่วิ่งเข้าเพรสซิ่งใส่จากตำแหน่งตัวเอง โดยมีกรีซมันน์รับผิดชอบคุมตัวที่ผู้เล่นคู่แข่งอาจจะคายบอลออกไปให้ทางขวา หรือเข้าแทคเกิลตัวบุกตรงนั้นจากแดนกลางทันทีเลยก็ได้ แต่ที่แน่ๆ Structure การเล่นเกมรับของฝรั่งเศสจะเล่นเกม Compact แน่นอน
กรณีการบีบพื้นที่ให้ Compact ในแผงกลางเช่นนี้ของฝรั่งเศส จากแผงมิดฟิลด์ 3+1+1 (3มิดฟิลด์ + ปีกขวาและหน้าเป้า) มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือแน่นด้วยทีมเวิร์คเกมรับ และคู่แข่งมีโอกาสปิดผนึกได้ง่าย
แต่ข้อเสียคือ หากไปเจอผู้เล่นทักษะสูงจัดๆ "แกะเพรส" ทะลุเกมรับ compact แบบนี้ไปได้ ค่อนข้างน่ากลัว เพราะตัวเล่นอื่นจะหลุดตำแหน่งทันที
ถ้าใครอ่านบทความ Intense-Tina มาแล้ว จะนึกภาพออกว่า "ลีโอเนล เมสซี่" คือตัวครองบอลที่ลงมาล้วงบอลแดนต่ำ และมักจะเป็นตัวลากคู่แข่งให้เข้ามารุมแบบนี้บ่อยๆ จนเกิดช่องให้เพื่อนวิ่งโจมตีได้ จากการโหลดวิงแบ็คขึ้นไปเติมเกมบุกในบอลปรัชญา Positional Play ในพื้นที่ Minor Area ตามจุดต่างๆของสนาม
ถ้าเมสแก้เกมรับ compact ในแดนกลางของฝรั่งเศสได้ ก็น่าสนใจว่าจะเป็นยังไงต่อ ตัวเล่นอื่นที่เป็นตัวเข้าทำ จะเฉียบคมพอที่จะผ่าน "แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์" เซ็นเตอร์แบ็คสุดเหนียวอย่างอูปา วาราน หรือ โกนาเต้ได้หรือไม่
แล้วถามอูโก้ ญอริส รึยัง ว่าตัวเติมเหล่านั้นจะยิงผ่านมือเขาไปได้รึเปล่า
ข้อนี้น่าคิด
5. Conclusion
"สรุป" แทคติกการเล่นของฝรั่งเศส จะเห็นได้ชัดเจนว่า หลักๆของการเล่นที่พาทัวร์โดยไกด์มือหนึ่งอย่างเอ็มบาปเป้นั้น จริงๆแล้วพวกเขา "ทำกันเป็นขบวนการ" ด้วยเกมรับที่มีระเบียบวินัยในการเล่นสูง ตัวเล่นรับผิดชอบงานค่อนข้างหนัก ตามหน้าที่ของแต่ละคน ซึ่งแดนกลางนอกจากจะสร้าง mid-block ด้วยตัวเล่นปีกที่บางครั้งก็หุบเข้ามาช่วยในแล้วนั้น นักเตะบางคนก็ยังได้รับหน้าที่พิเศษ เช่นเดียวกันกับเมสซี่ที่เกมรับจะไม่ต้องพะวงมากนัก และให้โชว์ความสามารถเกมรุกกันล้วนๆ
การวาดลวดลายของเอ็มบาปเป้ กับ เมสซี่ จึงได้รับการจับตาเป็นพิเศษ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในสนามจริงๆนั้น Key Battle ของเกมในแดนกลาง มันคือ Tchouameni + Griezmann VS Messi ต่างหากเพราะอย่างที่อธิบายแทคติกในบทความนี้แล้วว่า กรีซมันน์นั้นทำงานหนักมากๆ ขณะที่ชูอาเมนี่ จะเป็นตัวสกรีนงานให้กับสองเซ็นเตอร์แบ็คของพวกเขา
แดนที่จะวัดกันจริงๆในเกมรอบชิง มันคือวินัยเกมรับที่จะสร้างความแน่น ความ Compact ในแดนกลาง จะต้องเจอกับบอล Positional Play ที่เล่นด้วยความเข้มข้น ดุดัน ที่ใช้ทั้ง Man-marking + Zonal ของอาร์เจนติน่า
"เกมรับในแดนกลาง" คือคีย์ของทั้งสองฝ่ายเลย แต่สิ่งที่จะตัดสินกันได้คือ Game Plan ในวันนั้นของทั้งคู่ว่า จะจัดการยังไงกับคีย์แมนเกมรุกของอีกฝ่าย ทั้งการจัดการเมสซี่ เพื่อป้องกันการแบกทีมของเขาที่ทุกอย่าง จะตัดสินกันที่เมสซี่เป็นหลัก
หรือฝั่งอาร์เจน รู้ทั้งรู้ว่าเอ็มบาปเป้จะต้องแตะวิ่ง กระชากบอลหนีแน่ๆ แต่รู้ทั้งรู้ก็หยุดไม่ได้
"แผนการ" เป็นสิ่งสำคัญมากว่าแต่ละฝ่ายจะทำยังไง ซึ่งนั่นอาจจะส่งผลให้ฟังก์ชั่นการเล่นของนักเตะบางคนเปลี่ยนไปด้วย เช่นกรีซมันน์ อาจจะต้องถอยต่ำลงมาเป็น Roaming Playmaker จริงๆเพื่อตามติดเมสซี่ไม่ให้ลงไปล้วงบอลต่ำ
หรือ
ตัวตัดเกมของอาร์เจนทางฝั่งขวา โดยเฉพาะด่านแรกอย่าง โรดริโก้ เดอ ปอล ที่ต้องถ่างออกริมเส้นบ่อยๆอยู่แล้วนั้น จะสามารถเอาท่านประธานอยู่ไหมในด่านแรก และด่านสองจะต้องเจอกับนาฮูเอล โมลิน่าอีกหนึ่งตัว
เกมริมเส้นขวาของอาร์เจนฯเขามีกำแพงสองชั้นอยู่แล้ว เอ็มบาปเป้จะฝ่าด่านอรหันต์นี้ไปได้หรือไม่ ถ้าวัดจากแทคติกที่จะต้องเล่นเกมสวนกลับจากฝั่งนั้นเป็นหลัก
รอบชิงคงจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดว่า ในวันนั้นหน้างานจะเป็นยังไง และใครจะเป็นแชมป์โลก
แต่ที่แน่ๆ ทั้งอาร์เจนติน่า และ ฝรั่งเศส มีเกมการเล่นที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันชัดเจน แต่มีระบบทีมที่ดีเยี่ยม และแข็งแกร่งกันคนละอย่าง
วัดกันให้รู้ คืนนี้ผู้ชนะไม่ว่าจะเป็นใครที่ได้ชูถ้วยแชมป์โลก ยังไงก็สมศักดิ์ศรีแน่นอน
-ศาลาบอลโลก-
References