:::     :::

Tactical Analysis : "แทคติกไม่ลงล็อค50%" ดีแล้วแต่ไม่ครบ

วันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2566 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
2,198
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
วิเคราะห์แทคติกแบบลงลึกในรายละเอียด หลังเกมแพ้อาร์เซนอล 3-2 ด้วยสกอร์สูสี แต่รูปเกมค่อนข้างแตกต่างกันมากๆ และนี่คือข้อดีข้อเสียที่เราเห็นได้จากสถิติวิเคราะห์ต่างๆ ประกอบสิ่งที่เราเห็นในสนาม ก็ค่อนข้างตรงกันและชัดเจนมากว่าแมนยูแพ้ที่จุดไหน

เก็บตกแทคติกเกมเมื่อวานที่แมนยูแพ้อาร์เซนอล 3-2 มีรายละเอียดบางจุดที่ผมแคปภาพสดเอาไว้เท่าที่สังเกตเห็นดีเทลเชิงแทคติกบางอย่างที่น่าสนใจและจับสังเกตได้ เพิ่มเติมจากเมื่อวานมีอะไรบ้างที่คุณอาจจะไม่เห็น หรืออาจจะเห็นได้เหมือนกัน ดังนี้ครับ


1. การเซ็ตบอลของแมนยูไนเต็ดเมื่อวานมีปัญหามากตรงที่ไม่สามารถต่อบอลผ่านตรงกลางได้เลย รวมถึงในแดนหน้าด้วยที่ต่อบอลเซ็ตบอลไม่ได้ ทำให้การครองบอลทำได้เพียงแค่รอบๆพื้นที่อันตราย แต่ไม่สามารถพาบอลเข้าไปสู่ในกรอบเขตโทษได้เลย จำนวนการเล่น จำนวนการสัมผัสบอลใน Final Third และในกรอบเขตโทษมีน้อยมากๆ

สถิติ attempts ทั้งเกมนี้คือ Arsenal "22" ต่อ "6" ของ Man United เป็น Penbox shots ยิงในกรอบ 20 ต่อ 3 ครั้ง ค่อนข้างชัดเจนว่าทีมเราเอาบอลเข้าไปเล่นในพื้นที่อันตรายไม่ได้เลย แสดงให้เห็นในภาพแรกที่ยูไนเต็ดไม่มีคนสอดเข้าไปอยู่ใน pocket ตรงนั้น ทำให้บอลอยู่ห่างจากพื้นที่อันตรายมากๆ นอกจากในกรอบแล้ว โซน 14 ยังต่อบอลเข้าไปไม่ได้เลย


2. สิ่งที่บอกว่าทำไมแมนยูไนเต็ดผมถึงพูดว่า ข้อดีของเกมเมื่อวานคือเรายิงกันคมมาก จากจังหวะยิงน้อยนิดเพียงแค่ 6 ครั้งทั้งเกม เปลี่ยนเป็นประตูได้ถึง 2 ลูก

อย่างที่บอกไปแล้วว่า ดูจากสภาพการเล่น xG ตลอดทั้งเกมไม่น่าถึง 1 แต่ค่าที่ประมาณออกมา หนักยิ่งกว่านั้นอีก เพราะไม่ถึง 1 จริง แต่มีค่าเพียงแค่ 0.29 เท่านั้นซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ต่ำมากๆ (อาร์เซนอล xG 2.49 ชัดเจนว่าเขาสร้างจังหวะลุ้นประตูได้ดีกว่าแมนยูหลายเท่าตัว)

แต่กลับยิงมาได้ถึง 2 เม็ด


ยกตัวอย่างให้ดูในภาพที่ 2 เป็น จังหวะยิงของแรชฟอร์ดว่า โอกาสเป็นประตูมันน้อยมากๆ ด้วยปัจจัยหลายๆอย่างที่ระบบคำนวณค่าความน่าจะเป็นไว้ต่ำ เนื่องจาก

2.1 ระยะทางห่างจากปากประตูค่อนข้างเยอะ โอกาสเซฟได้มีสูง
2.2 จำนวนผู้เล่นที่ขวางทางการยิงประตูอยู่ยังมีด้านหน้าอีกถึง 2 ตัว ข้างๆอีก 1 ตัว
2.3 มุมยิงที่บีบไม่เหลือแล้วจากการบังของกองหลังอาร์เซนอล ทำให้เหลือแค่มุมเดียวซึ่งแคบมาก แถมต้องยิงหนีมือจอมเซฟอย่างแรมสเดลอีก

ดูจากกราฟแล้วค่า xG ในจังหวะยิงนี้ของแรชฟอร์ด ไม่ถึง 0.1 ประตูด้วยซ้ำ


3. ตำแหน่งการยืนและแมพการออกบอล (Passing map) ทำให้เห็นชัดว่าพอคาเซมิโร่ไม่อยู่ ทำให้แดนกลางต้องดึงต่ำลงมายืนกันสองคน ทั้ง 14 กับ 39 ที่ต้องลงมาช่วยกันทำเกม, วาราน(19)ก็ต้องขยับขึ้นมาช่วยสองมิดฟิลด์ต่อบอลด้วย

ถ้าเทียบกับตอนคาเซมิโร่อยู่ 18 สามารถคุมพื้นที่หน้าสองเซ็นเตอร์แบ็คได้คนเดียว

ปัญหานี้ทำให้สภาพเหมือนตอนยุคโอเล่กลับมา คือระบบการยืนของ double pivot กลายเป็น "6s ดรอปต่ำ" ทั้งคู่ สองคนอย่างแม็คโทมิเนย์กับอีริคเซ่นต่างก็คุมเกมกันไม่ได้ น้องแม็คจึงทำได้แค่เข้าดวล ปะทะกับคู่แข่งอย่างเดียว ส่วนอีริคเซ่นเองก็ต้องอาศัยการออกบอล ซึ่งวันนี้ก็ออกบอลขึ้นหน้าไม่แม่นสักเท่าไหร่

คาเซฯออกไปคนนึงจึงเสียสมดุลกันทั้งคู่

ในเรื่องของ shape การเล่นของทีม เรื่องการยืนถือว่ามีความ compact มีการกระจายตัวที่ยังโอเคอยู่ แต่จุดที่เปลี่ยนแปลงคือ ในภาพจะเห็นชัดว่า DEF Line Height หรือระยะห่างที่กองหลังดันสูงขึ้นมาเล่นในสนามนั้น จะค่อนข้างยืนกันต่ำกว่าปกติเวลาครองบอล

สะท้อนออกมาเป็นภาพที่ยูไนเต็ดเซ็ตบอลกันอยู่ในแดนต่ำ ทำเกมแดนบนไม่ได้เลย และเกมรับ ที่ช่วงท้ายครึ่งหลังไปเล่น Low Block ยืนต่ำมาก อยู่ในลักษณะรอโดน และคุมบอล เอาบอลกลับมาทำเกมแทบไม่ได้เลย นั่นคือจุดผิดพลาดเชิงแทคติกที่ถ้าหากแมนยูออกมาเล่นแบบเกมแรกที่ชนะน่อล 3-1 คือเล่นเพรสซิ่งกลางสนามไม่ให้อาร์เซนอลทำเกมง่ายๆ และชิงจังหวะเล่น Quick Transition มันจะดีกว่านี้เยอะ

เกมนี้ค่าของ DEF Line Height แมนยูดันเกมสูงแค่ 37.0 เท่านั้น ส่วนของอาร์เซนอล 49.1 ค่อนข้างชัดว่าใครดันเกมบุกได้มากกว่ากัน ซึ่งก็น่าเสียดายที่แมนยูไม่มีเกมสวนกลับเมื่อวาน น่าจะใช้ให้เป็นประโยชน์กว่านี้


4. เอริค เทน ฮาก ยังคิดถูกอยู่อีกเรื่องนึงก็คือแทคติกที่จะนำตัวพิเศษอย่างเฟร็ดลงมาไล่บอลจับตายโอเดการ์ดในแดนกลาง ด้วยวิธีคิดถูกต้อง แต่สิ่งที่ต้องระวังคือปัจจัยอื่นๆที่ต้องคำนึงด้วย ไม่ใช่ว่าถ้าส่งเฟร็ดลงมาแทนแม็คโทมิเนย์แล้วเกมจะดีกว่า อย่างที่ตอนนี้น้องแม็คก็กำลังโดนกระหน่ำคนเดียว ทั้งๆที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งทีม

การใช้เฟร็ดลงมาเล่น DM ก็เป็นการฆ่าตัวตายไม่ต่างกัน เพราะนั่นไม่ใช่ตำแหน่งเฟร็ด และถ้ากลางคู่กันของเรา มี 1 ตัววิ่งออกไปไล่บอลโอเดการ์ด มันทำให้พื้นที่หน้าแผงหลังจะเกิดช่องว่างทันที

ใช้ man-marking ไม่ได้เด็ดขาด เพราะทีมไม่มี "ตัวหลัก" ยืนปักในพื้นที่ เหมือนที่มีคาเซมิโร่ยืนเป็นกลางรับตัวหลักให้ทีมตลอดมา สังเกตในทีมชาติบราซิลก็ได้


ถ้ามีเฟร็ดลงไปในสนาม นั่นแปลว่าพวกเขาจะต้องมีคาเซมิโร่ยืนเป็นหลักอยู่ก่อน ถ้าไม่งั้นคือต้องจัด Mc-Fred ลงตั้งแต่แรก ใช้คู่ Fred-Eriksen กลางจะโหว่และโบ๋ทันทีเนื่องจากไม่มีตัวแข็งๆยืนคุมพื้นที่ตรงนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่คาเซมิโร่ทำได้ดีที่สุดของทีม

น้องแม็คเองไม่ได้หลุดตำแหน่งเท่าไหร่ เรื่อง positioning ของ McTominay ไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่จุดอื่นคือเรื่องของการโฮลดิ้ง การคอนโทรลเกม การออกบอล น้องแม็คยังตามหลังคาเซมิโร่อยู่ห่างไกลลิบลิ่ว


ในภาพข้างบนนี้จะเห็นชัดเจนว่าหากจัดแทคติกด้วยวิธีคิดดังกล่าว "สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสนาม" ก็จะเป็นแบบในรูป คือความอิสระของโอเดการ์ดก็สามารถทำเหมือนบรูโน่ได้ คือการขยับออกไปเซ็ตบอล ออกบอลทำเกมได้อย่างอิสระจากริมเส้น (วงสีแดง) โอเดการ์ดเป็น Advane Playmaker เหมือนกับบรูโน่เป๊ะ และไม่ได้เล่นจำกัดอยู่แค่ว่าจะต้องปักหลักอยู่ตรงกลางเหมือน traditional 10

โอเดการ์ดจึงขยับตำแหน่งอิสระ และอาร์เซนอลสามารถ "ดันมิดฟิลด์ขึ้นสูง" ได้อย่างสบายๆ ทั้งปาร์เตย์ และในรูปคือ กรานิต ชาก้า ที่ดันขึ้นมาโจมตีในจุดของเบอร์ 10 ซึ่งการป้องกันของแมนยูเมื่อวานในจังหวะของภาพนี้ ก็หลุดโล่งไม่มีใครทันระวังเช่นกัน

5. ภาพนี้น่าจะแสดงให้เห็นความขยันและประโยชน์ของเว็กฮอร์สได้อย่างดี พี่แกขยันวิ่งไล่บอลตลอดเวลา และลงต่ำมาช่วยแผงมิดฟิลด์อยู่ตลอด ร่วมกันกับบรูโน่ แฟร์นันด์ส ทำให้กลางมีตัวแพ็คกันแน่นๆ 4 คน

ต้องเข้าใจว่ามันเป็นเกมที่แมนยูครองบอล คุมบอลกันไม่ได้เลย พี่ม้าเลยต้องเล่นเกมรับซะค่อนข้างเยอะ สองตัวกลางในแดนหน้าอย่างเว็กฮอร์ส และ บรูโน่ จึงไม่ค่อยได้เล่นรุก และต้องถอยต่ำลงมาช่วยมิดฟิลด์สองคนในการปิดพื้นที่ตรงกลางไม่ให้โดนเจาะได้ง่าย

ตามแทคติกเอริคจะสั่งให้ทิ้งปีกสองข้างยืนสูงชิดริมเส้นเอาไว้ (วงสีแดงในรูปข้างบน) จากตำแหน่งการยืนเฉลี่ย และแอเรียที่ทั้งสองรับผิดชอบยามที่ทีมไม่มีบอล (ภาพ5) ก็จะเห็นชัดว่า แอนโทนี่ กับ แรชฟอร์ด ยืนกันค่อนข้างสูงมากๆ และเว็กฮอร์สวิ่งครอบคลุมพื้นที่การเล่นเกมรับแดนบนพอสมควร (ซีกซ้ายมือ : out of possession)

เกมกราบซ้ายเมื่อแรชฟอร์ดไม่ถอยลงต่ำตามแทคติก ลุค ชอว์จึงต้องรับผิดชอบพื้นที่ค่อนข้างเยอะ ส่วนด้านขวา อารอน วานบิสซาก้าเจอปีกซ้ายของอาร์เซนอลกดพื้นที่การเล่นไว้ค่อนข้างต่ำ (บุกสูงมาก) ส่งผลทำให้การยืนของ Antony ค่อนข้างที่จะ isolate มากๆทางขวา แต่ก็อยู่ในตำแหน่งที่พร้อมรับการสวนกลับเช่นกัน

แทคติกของเทน ฮาก ถูกแล้วที่สิ่งปีกห้อยสูงเอาไว้ข้างละคน และดรอปกองหน้าลงต่ำมา แต่สิ่งที่มันขาดและไม่เข้าแก๊ปคือ "คนเปิดบอล" จากแดนกลางแดนหลัง ที่วันนี้ไม่มีตัวเปิดบอลแม่นๆเลย

ผลสุดท้ายบอลจึงไปถึงแรชกับแอนโทนี่น้อยมากๆ นี่คือความไม่ลงล็อคของแทคติกที่เตรียมมาดีแล้ว 50% แต่อีก 50% ไม่complete

ซีกขวาแอเรียการเล่นขณะที่เป็นฝ่ายครองบอล ทีมจะขยับตำแหน่งเข้ามาชิดกันด้วยความ compact มากขึ้น ต่างจากตอนเล่นเกมรับที่ต้องกระจายพื้นที่รับผิดชอบกัน เว็กฮอร์สกับแอนโทนี่จะขยับตำแหน่งครอบคลุมพื้นที่ค่อนข้างเยอะ เนื่องจากผู้เล่นแดนบนที่ทำเกมมีค่อนข้างน้อย แรชฟอร์ดเองก็อยู่ในพื้นที่จำกัดมากๆในการเล่น

เป็นแมตช์ที่แรชฟอร์ดไม่มีพื้นที่ใช้สปีดความเร็วเล่นงานอาร์เซนอลเลย แอเรียการเล่นในแผนภาพนี้แสดงให้เห็นข้อจำกัดและแทคติกที่แมนยูใช้จุดเด่นเล่นได้ไม่เต็มที่


6. Ball Progression ของเกมนี้ นักเตะที่ทำให้บอลเดินขึ้นหน้าได้ปริมาณเยอะที่สุดเป็นของนักเตะฝั่งอาร์เซนอล โดยเฉพาะ ซาก้า ซินเชนโก้ รวมถึงซาลิบา ที่ทั้งจ่ายบอล และพาบอลขึ้นหน้าได้เยอะสุด

ส่วนของฝั่งแมนยูคนที่พาบอลขึ้นหน้าได้มากที่สุดคือราฟาเอล วาราน ที่ต้องเลี้ยงไปกับบอลด้วยตัวเอง ส่วนลุค ชอว์ กับ เดเคอา ออกบอลขึ้นหน้าได้พอๆกัน

ซึ่งนั่นแปลว่าเราโดนเพรสสูงใส่จนทำให้แนวหลังบ้าน ทั้งเด ทั้งชอว์ ซึ่งยืนกันต่ำอยู่แล้วนั้น ไม่มีทางเลือกต้องออกบอลโด่งเคลียร์ออกมา เมื่อไม่มีคาเซมิโร่จึงไม่มีตัวเชื่อมบอลจากกองหลังเลย


7. ข้อผิดพลาดเชิงแทคติกอีกอย่างของเอริค เทน ฮาก คือ การลงมาของเฟร็ดในช่วงท้าย ไม่ส่งผล impact ใดๆเลยต่อรูปเกม นั่นคือการแก้เกมไม่สำเร็จ และยิ่งต้องถ่างบรูโน่ออกไปอยู่ขวา กลางขยับใช้อีริคเซ่นดันสูงขึ้นมาแทน และด้านหลังเป็นแม็คเฟร็ด

สิ่งที่สูญเสียไปคือพละกำลังการไล่บอลที่จะส่งผลดีต่อทีมของบรูโน่ เมื่อต้องออกไปริมเส้น ทำให้เขารับภาระหน้าที่เกมบุกเยอะขึ้น เกมรับจึงหายตามไปด้วยเช่นกัน


พอผนวกกับการที่ยังคงไม่สามารถเก็บบอลได้ เตะสาดทิ้งออกมาอย่างเดียวสุดท้ายเจอน่อลเก็บบอลบุกต่อ แนวรับแมนยูก็ไม่กระจายวิ่งออกมาไล่บอลใส่อาร์เซนอลเพราะกลัวโดนเจาะ

การส่ง Fred ลงมาที่ถูกต้อง จะต้องกำชับแทคติกที่ใช้ไดนามิคการเล่นแดนกลางเยอะๆให้มันคุ้มกับพลังของเฟร็ด ซึ่งมีแม็คโทมิเนย์ยืนคุมพื้นที่ให้แล้ว เฟร็ดควรได้วิ่งพล่านแดนบนร่วมกันกับอีริคเซ่น และบรูโน่ เหมือนแผนที่เจอกับซิตี้

แต่เอาเฟร็ดลงมาตั้งรับลึก อย่างที่บอก ด้วย Physical ที่เสียเปรียบ เมื่อไม่มีการเคลื่อนที่ ขาดไดนามิค, mobility ที่มีอยู่ไม่ได้งัดออกมาใช้ประโยชน์ การส่งเฟร็ดลงมาจึงไม่ได้ผล

ไม่ใช่ความผิดเฟร็ด แต่แทคติกอีกครึ่งนึงมันไม่ลงล็อคกัน

สถิติด้านบนนี้ที่เป็นผลลัพธ์ของการเข้าปะทะและเข้าดวลกับคู่แข่งของ สก็อตต์ แม็คโทมิเนย์ ต่อคำดูถูกที่หลายๆคนด่าแม็คโทมิเนย์ซะไม่มีอะไรดี ซึ่งเข้าใจได้ว่าทำไมคนเหล่านั้นถึงด่ากันแหลกขนาดนั้น เพราะน้องแม็คมีจุดอ่อนใหญ่หลวงตรงที่ยังคุมเกมเองไม่ได้ ออกบอลไม่ดี เนื่องจากยิ่งมีตัวเปรียบเทียบระดับท็อปอย่างคาเซมิโร่ จุดอ่อนมันเลยเห็นชัด

แต่ประเภทที่ด่าว่าแม็คโทมิเนย์ไม่มีประโยชน์เลยนี่ก็ไม่แน่ใจว่าได้ดูเกมรึเปล่า เพราะน้องแกทำงานหนักมากๆในแดนกลางที่ช่วยไล่บอล เข้าปะทะและสกัดบอลคู่แข่งตลอดเวลา จะให้มันเก็บได้ตลอดทุกครั้งก็เกินกำลัง

แต่ขนาดว่าตัวที่โดนคนด่าเยอะสุดในเกมนี้ แม็คโทมิเนย์กลับเป็นผู้เล่นในสนามที่มีสถิติ Duel ดีที่สุดในสนาม ด้วยการดวลชนะ 6 ครั้ง แพ้ครั้งเดียว โดยเป็นการดวลลูกกลางอากาศชนะถึง 2 ครั้ง คิดผลต่างแล้วน้องแม็ค duels ได้ดีที่สุดในสนามนี้ด้วยค่าชนะอยู่ที่ +5

8. ข้อสำคัญที่ทำให้ทั้งหมดทั้งมวลยูไนเต็ดแพ้อาร์เซนอลเมื่อวาน นั่นก็คือการคุมเกมของแดนกลางที่สู้กันไม่ได้เลย และนั่นส่งผลต่อไปยังปริมาณการสร้างเกมรุก ที่อาร์เซนอลทำเกมรุกขึ้นมาสูงกว่า และต่อบอลทำเกมใส่พื้นที่ยูไนเต็ดได้ใกล้ปากประตูมากๆ

สถิติ Field Tilt หรือการเล่นในพื้นที่ Final Third ของคู่แข่ง สัดส่วนของอาร์เซนอลต่อแมนยูคือ 74.4% - 25.6% เยอะกว่ากันถึง 3 ต่อ 1 ก็ไม่น่าแปลกใจอะไรกับสกอร์นี้ ซึ่งจริงๆถ้าจะให้เหมาะสมกับรูปเกมที่ทำได้ สกอร์ราว 3-1 ก็ดูจะใกล้เคียงความจริงกว่านี้

อย่างที่บอกว่าแมนยูคมมาก คมจัด ถ้าเมื่อวานกลางสู้ได้ และทำเกมในปริมาณที่ใกล้เคียงกันได้ โอกาสที่แมนยูจะชนะเพราะว่า "หน้าคมกว่า" ก็มีเหมือนกัน

เรื่องความด้อยกว่าในการทำเกมนี้เราสามารถวัดจากค่า xT ได้ (Expected Threat) ในรูปนี้จะเห็นชัดว่าอาร์เซนอลทำได้ดีกว่าแมนยูตลอดทั้งเกม และสะสมจนจบเกมอยู่ที่ xThreat: 1.85 ต่อ 0.56 กราฟจะชันและห่างกับแมนยูมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ช่วงนาทีที่ 60 ขึ้นไป หลังจากที่แมนยู(สีแดง) ยิงตีเสมอ 2-2 ในนาที 60 สังเกตได้เลยว่า เส้นสีฟ้า(อาร์เซนอล) จะมีค่าการทำเกมรุกโจมตีใส่แมนยู (xT) สูงมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเห็นได้ชัดมากๆในภาพข้างล่างนี้

นี่คือจุดตายของแมนยูเมื่อวานอีกจุด แทนที่จะเปลี่ยนโมเมนตัมฮึกเหิมตรงนี้ให้เป็น turn point ของตัวเองในการยิงแซง ดันกลายเป็นอาร์เซนอลที่ทำเกมดีกว่าเราเพื่อจะกดประตูแซง และทำสำเร็จในช่วงนาทีสุดท้าย

สถิติอื่นๆอาร์เซนอลก็ยังกดแมนยูขาด เช่น การเปิดบอลเข้าแดนลึก Deep completions อาร์เซนอล 19 แมนยูไนเต็ด "1" และภาคการ build-up ก็ชนะกันขาดเหมือนกัน อาร์เซนอล build-up สำเร็จ (Buildup Completion) 83.6% ต่อแมนยู 77.7%

เกมรับอาร์เซนอลก็ยังดีกว่ายูไนเต็ดอยู่ดีโดยเฉพาะภาคการไล่เพรสซิ่ง อันนี้จะเฉือนกันปริมาณของ PPDA หรือ Passing Per Defensive Action อาร์เซนอลจะให้แมนยูมีโอกาสจ่ายบอลได้อยู่ที่ 10.4 ครั้ง ส่วนแมนยูปล่อยให้น่อลจ่ายบอลกันได้ 11.4 ครั้ง แล้วถึงจะมี Defensive Action เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นแทคเกิล หรือ พยายามเข้าตัดบอล

พูดง่ายๆว่า การสร้างเกมรุกแพ้ขาด การเล่นเกมรับอาร์เซนอลเพรสซิ่งใส่แมนยูจนทำเกมได้ยากกว่านั่นเอง หลายๆสถิติก็ค่อนข้างน้อยจนน่าตกใจ จากภาพข้างล่างนี้ การทำเกมเข้าสู่พื้นที่โซน 14 (ตรงกลาง แถวสองด้านหน้ากรอบเขตโทษ) และพื้นที่ฮาล์ฟสเปซ จะเห็นชัดว่า อาร์เซนอล manage พื้นที่โจมตีได้ดีมากๆ จ่ายบอลทะลวงแมนยูทะลุกันหมดทุกแดน(ซ้าย) ทั้งโซน14 และฮาล์ฟสเปซ ความถี่ของการจ่ายบอล(ลูกศร)เยอะและครอบคลุมมากๆ ส่วนแมนยูก็มีเท่าที่เห็น โซน 14 จ่ายบอลเข้าพื้นที่กันแค่ 4 ครั้ง จ่ายบอลในฮาล์ฟสเปซที่เป็นแดนต่ำๆอีก(ภาพขวา) 24 ครั้ง มีบอลเข้าไปในฮาล์ฟสเปซจุดสูง (บริเวณกรอบเขตโทษ) จริงๆแค่ 2 ครั้งเท่านั้นเอง น่าใจหายมากๆที่การทำเกมรุกแย่สุดๆเมื่อวาน เพราะครองบอลไม่ได้

ต้องแยกแยะกันระหว่าง ความคมในการจบสกอร์ กับ การทำเกมรุก คนละอย่างกันนะครับ (xG : xT)

ทั้งหมดนี้คือสถิติเชิงวิเคราะห์หลังเกม อาร์เซนอล ชนะ แมนยูไนเต็ดไป 3-2 ใจจริงถ้าเมื่อวานเสมอมาได้ คงจะยอมรับสารภาพ และมอบตัวโดยดีว่า เราเล่นน่าแพ้กว่าเยอะ พอมีสกอร์เกิดขึ้นช่วงท้ายก็รู้สึกว่า อย่างน้อยฟุตบอลก็ยัง "แฟร์" เสมอกับทีมที่ทำได้ดีกว่า การเก็บสามแต้มเต็มต่อเกมยากของน่อลที่ชนะแมนยูซึ่งก็พยายามสู้ด้วยความเฉียบคมของการยิงประตู และเกมรับ Low Block ที่เอริคก็ซื้อบล็อคด้วยการเก็บเว็กฮอร์สเอาไว้ และเกือบจะสำเร็จ เกือบจะได้ตามที่เขาวางแทคติกเอาไว้แล้ว แต่สุดท้ายมันก็ยังไม่ดีพอ

ไม่มีใครรู้ว่าถ้าถอดเว็กฮอร์สออกไปแล้วส่งการ์นาโช่ลงมามันจะดีขึ้นจริงหรือไม่? อาจจะโดนยิงเป็น 4-2 ก็ได้เพราะแนวรับอ่อนลง หรืออาจจะชนะเพราะลูกสวนกลับ กลายเป็นสกอร์ 2-3 แทน ข้อนี้ก็ไม่มีใครรู้

ฟุตบอลไม่มีคำว่าถ้า เราทำได้ก็เพียงวิเคราะห์สิ่งที่มันน่าจะเป็นเท่านั้น และก็ศึกษาไว้เพื่อเปิดองค์ความรู้ไว้ประกอบการดูฟุตบอลเท่านั้น ยังไงก็เชียร์กันต่อไปครับ นัดหน้ารออยู่ เกมนี้ก็แค่สามแต้มแมตช์ยากที่ทำไม่สำเร็จ เราไปเก็บแต้มจากนัดอื่น และทำให้ดีที่สุดในฤดูกาลนี้ แล้วเดี๋ยวปีหน้าอะไรๆลงตัวขึ้น เอริคมีเวลาในการวางแผน เตรียมทีมได้สะดวกกว่าปีแรก เชื่อว่ามันจะต้องดีขึ้นกว่าเดิมอีกแน่นอน

แค่นี้ก็ถือว่าทำให้แฟนผีเชียร์บอลกันอย่างมีความหวังแล้ว ให้กำลังใจทีมกันต่อไป และเลิกโทษนักเตะคนใดคนหนึ่งหรือหาแพะว่าเพราะคนนี้ลงทำให้ทีมแพ้ ส่งกำลังใจกันต่อ เพราะทุกๆคนในทีมของเราสำคัญหมดครับ

แพ้ก็แพ้ด้วยกันเป็นทีม ชนะก็ชนะด้วยกันทั้งทีม

-ศาลาผี-


Reference

https://twitter.com/markstatsbot/status/1617228700956897282

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด