ถึงเวลากู้ชื่อของ "อิสสระ ศรีทะโร"
โดยผลงานของทั้ง 2 ทีมแตกต่างกันออกไป ทีมชาติไทย ชุดใหญ่ ทรงอย่างแบด ครองบอล ต่อบอลสวยกว่า แต่ดันแซดมีจุดผิดพลาดเล็กน้อย ทำให้แพ้ ซีเรีย ไป 3-1
ขณะที่ ทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ถือว่าฟอร์มผิดคาด เมื่อลงสนาม 2 เกม ไล่เจ๊า ซาอุดิอาระเบีย ไป 2-2 และ เบียดเอาชนะ กาตาร์ เจ้าภาพ ไป 1-0 เข้าชิงที่ 3 กับ คูเวต
ที่บอกว่าฟอร์มการเล่นของทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ผิดคาด เพราะเวลาซ้อมร่วมกันแทบไม่มี จะได้ซ้อมจริงๆ จังๆ ก็ตอนบินถึงกาตาร์เรียบร้อยแล้ว
ขณะที่นักเตะหลายๆ คนแทบไม่มีโอกาสลงสนามให้ต้นสังกัด ทำให้ฟอร์มการเล่นสะดุดลงไปบ้าง
ที่สำคัญเลยคือการขาด “แมตช์ฟิต” ทำให้การยืนนระยะ 90 นาทีเป็นไปอย่างลำบาก กับแท็คติคที่ต้อง “เพรสซิ่ง” ตลอดทั้งเกม
คนที่ต้องได้รับคำชมย่อมหนีไม่พ้น “โค้ชหระ” อิสสระ ศรีทะโร เฮดโค้ช ที่ได้โอกาสมาคุมทีมอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้เจ้าตัวประกาศลาออกจากการคุมทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี เมื่อไม่สามารถพาทีมผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รอบสุดท้ายได้
จากนั้นก็ได้โอกาสเข้าไปเป็นหนึ่งในทีมงานของทีมชาติไทย ชุดใหญ่ ภายใต้การคุมทีมของ “อากิระ นิชิโนะ”
เมื่อสมาคมฯ แยกทางกับ “นิชิโนะ” ทำให้บทบาทของ “โค้ชหระ” กลายเป็นสุญญากาศ ก่อนจะไปรับงานคุม พีที ประจวบ สั้นๆ สามารถพาทีมรอดตกชั้นสำเร็จ
สุดท้ายเขายังได้รับความไว้วางใจให้คุมทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี แม้ว่าจะมีเสียงต่อต้านจากแฟนบอลก็ตาม เพราะผลงานในอดีตยังติดตา
แต่หากวางจิตใจเป็นกลางต้องบอกว่าผลงานของ “โค้ชหระ” กับการคุมทีมเยาวชนไทยก็มีทั้งช่วงที่ดี เกือบได้ไปเล่นฟุตบอล รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ชิงแชมป์โลก ที่โปแลนด์ เมื่อปี 2019
แต่สุดท้ายต้าน กาตาร์ ไม่ไหว แพ้ในช่วงต่อเวลาพิเศษ 7-3
การเป็นผู้ถูกเลือกให้กุมชะตาทีมชาติไทย น้องรอง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักเตะหลายๆ คนต่างเคยเป็นศิษย์เก่าตั้งแต่รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ทำให้เขาไม่ต้องเสียเวลาไปหาข้อมูลหรือเรียนรู้สไตล์การเล่นของนักเตะรุ่นนี้
พอได้เลือกเป็นเฮดโค้ชตัวเขาเองสามารถทำงานได้เลย เมื่อนักเตะเคยร่วมงานกัน แค่มองตาก็รู้ใจ นั่นทำให้นักเตะเล่นได้อย่างเป็นธรรมชาติ และ ทำผลงานได้ดี
ทั้ง ชาญณรงค์ พรมศรีแก้ว, ฉัตรมงคล เรืองฐณโรจน์, อิรฟาน ดอเลอะ ล้วนเคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกับ “โค้ชหระ” ทั้งสิ้น
ส่วนที่ต้องปรุงแต่งเพิ่มคือเรื่อง “แรง” เพราะจะโทษ “โค้ชหระ” ก็ไม่ได้ เพราะไม่มีสิทธิ์ไปสั่งสโมสรให้ส่งนักเตะคนนั้น คนนี้ลงสนาม
สิ่งหนึ่งที่ “โค้ชหระ” เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด คือ การวางตัว
ในอดีต “โค้ชหระ” จะมีส่วนร่วมกับเกม สั่งการด้วยสไตล์ที่ดุดัน แต่ปัจจุบันเขาดูสุขุมขึ้น
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวัยวุฒิและประสบการณ์คุมทีมที่เพิ่มพูน นอกจากนี้เขาได้เรียนรู้เรื่องการควบคุม และใช้จิตวิทยามาจาก “อาจารย์โนะ”
แต่นี่คือจุดเริ่มต้น และ เป็นเกมอุ่นเครื่อง ของจริงอยู่ที่ ซีเกมส์ ที่กัมพูชา หาก “โค้ชหระ” ไม่สามารถพาทีมคว้าเหรียญทอง หรือ ทำทรงบอลให้น่าดู รับรองคงโดนโจมตีอีกครั้งแน่นอน
หวังว่า “โค้ชหระ” จะรักษาผลงานที่ดีต่อไป อนาคตเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ แต่ตอนนี้บอกได้คำเดียว ถึงเวลา “โค้ชหระ” กู้ชื่อเสียงให้ตัวเองให้กลับมาดีอีกครั้งแล้ว