:::     :::

แมนยูอาจต้อง "เปลี่ยนวิธีคิด" ในการเล่นเกมเยือน

วันศุกร์ที่ 05 พฤษภาคม 2566 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
1,600
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
เกมเยือนเป็นปัญหาของแมนยูในปีนี้จริงๆ เหลืออีก 5 เกมสุดท้ายชี้ชะตาTop4 บางทีเทน ฮาก อาจต้องเปลี่ยนแปลงบางอย่างในการเล่นเป็นทีมเยือนบ้าง

พูดคุยกันด้วยเหตุผลเชิงฟุตบอลล้วนๆ ใครยังหงุดหงิดอยู่เว้นไว้ก่อนนะครับ เรามาว่ากันด้วยเรื่องของ "การเก็บผลลัพธ์ในเกมเยือน" ที่แฟนบอลก็ทราบกันดีว่า สถิติการเล่นเกมเยือนของเราในยุค EtH ไม่โสภาจริงๆ เกือบสิบเกมชนะแค่เกมเดียว (ฟูแล่ม1-2) ก็ถือว่าอาการหนักมากแล้ว และไม่ควรจะเป็นแบบนี้ ซึ่งมันเป็นแบบนี้มาทั้งซีซั่น จนกระทั่งเกมล่าสุดนี้ มาเยือนไบรท์ตันก็ยังพังพาบด้วยสกอร์ 1-0

ความพ่ายแพ้ในเกมเยือนต่อทีมTop9 ในครึ่งตารางด้านบน ณ ปัจจุบัน ทั้งหมด 8 เกม เกิดขึ้นเป็นสถิติ "แพ้ 7 นัด" เสมอ 1 นัด ไม่ชนะเลย ดังนี้

❌ 4-0 vs Brentford

❌ 6-3 vs Man City

❌ 3-1 vs Aston Villa

❌ 3-2 vs Arsenal

❌ 7-0 vs Liverpool

❌ 2-0 vs Newcastle

❌ 2-2 vs Tottenham

❌ 1-0 vs Brighton

หนักหนาสาหัสเอาการ และยิ่งดูสถิติเกมเยือนโดยรวมแล้ว ก็ยิ่งชัดเจนว่าเกิดปัญหาในด้านการเล่นพอควร โดยเฉพาะในเกมรับที่ต้องรีบแก้ไขด่วนๆ ตามสถิติของพรีเมียร์ลีกด้านล่างนี้

เทียบจำนวนนัดพอๆกัน 16เกมเหย้า 16 เกมเยือน ชัดเจนว่าเกมเยือนมีปัญหามากๆในเรื่องการเล่นที่ทีมเสียสกอร์กันค่อนข้างเยอะ ไปโดนหนักๆมาหลายเกม ทั้งลิเวอร์พูล แมนซิตี้ เบรนท์ฟอร์ด นั่นคือเรื่องจำนวนการเสียประตู ส่วนการเก็บผลการแข่งขัน ก็ตามด้านบนที่บอกมาแล้วว่า เกมเยือนท็อปฮาล์ฟของตารางเราแทบไม่ชนะใครเลย มีเกมนั้นแค่เกมเดียวกับฟูแล่ม นอกนั้นดีสุดคือ 1 แต้มเท่านั้น

ส่วนใหญ่ "0"

เมื่อเห็นสถิติที่ชัดเจนเช่นนี้แล้วบางครั้งเอริค เทน ฮาก อาจจะต้อง "ลองปรับเปลี่ยน" ทิศทางในการเล่นของทีมบางอย่าง ในยามที่เป็นทีมเยือนกับคู่แข่งที่มีการเล่นที่ดีกว่า บางครั้งการเปลี่ยนตัว เปลี่ยนแทคติกลงสนามมา อาจจะยังไม่พอที่จะแก้ไขให้แมนยูไนเต็ด "เก็บผลลัพธ์ในเกมเยือน" ได้

ชุดความคิดของเอริค เทน ฮาก อาจจะต้องลองปรับเกมแพลนและ วิถีของวิธีการ ดูบ้าง พูดภาษาชาวบ้านให้คนเข้าใจง่ายๆคือ ลองปรับวิธีคิดการเล่นเกมเยือนเป็นอีกแบบนึงบ้างจะดีไหม แค่นั้นครับ


ตัวอย่างที่ง่ายที่สุด เราสามารถมองไปที่คนใกล้ตัวซึ่งถือว่าเป็นเทพเกมเยือนเลยจริงๆสำหรับ Ole Gunnar Solskjaer ในตอนที่คุมแมนยูไนเต็ดซึ่งทรัพยากรที่มีถือว่าห่วยกว่าตอนนี้ซะอีก แต่ทำผลงานในเกมเยือนระดับท็อปคลาสเลย

วิธีคิดของโอเล่ ชัดเจนในวิธีการ นั่นคือเขามาเพื่อจะเล่นเกมโต้กลับใส่คู่แข่งเน้นๆ ด้วยการแพ็คเกมที่เป็นดาบสองคม แต่มันก็ใช้งานได้จริงๆในเกมเยือน นั่นคือการ "แพ็คเกมให้แน่น" เอาไว้ก่อนเป็นสรณะ จากระบบ double pivot ของโอเล่ที่ใช้ "6s" หรือ มิดฟิลด์เบอร์6เล่นเป็นกลางรับคู่ นั่นคือ tools เครื่องมือในการช่วยเสริมให้ทีมมีความเหนียวแน่นในการเล่นสูง

เมื่อรวมกับองค์ประกอบอื่นๆ ต้องยอมรับว่าทีมของโซลชาเก็บผลเกมเยือนได้เก่งมากจริงๆ


เมื่อหลังบ้านแน่น ในยามที่ตอนนั้นแมกไกวร์เป็นตัวหลักซะด้วยซ้ำ แต่ทีมเก็บแต้มเกมเยือนแบบรัวๆเลย ด้วยฟุตบอลฉาบฉวยเล่นเกมโต้กลับเร็วด้วยนักเตะสายcounterเน้นๆแบบพวกแรชฟอร์ด บรูโน่ ยูไนเต็ดทำผลงานได้ดีมากในเกมเยือน

นั่นคือข้อสังเกตที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการหยิบจับอะไรบางอย่างไปใช้งานได้
เราไม่ได้หมายความว่าจะให้เอาแม็คเฟร็ดมาเล่นกลางรับคู่แบบยุคนั้นนะครับ ไม่ใช่

เราแค่จะบอกว่า เกมเยือนยากๆ เทน ฮาก ลองปรับวิธีคิดดูก็น่าจะดีอยู่เหมือนกันนะ


ไม่จำเป็นต้องเน้นเกมโต้กลับก็ได้ วิธีการในการเล่นเกมเยือนให้ได้ผลการแข่งขันที่ดีมีเยอะแยะ เช่น

1. ฟุตบอลไดเร็คต์ ใช้งานได้เสมอไม่ว่าจะยุคไหน อันนี้ก็ของแสลงสำหรับพวกทีมคลาสสูงๆเลย ไม่ค่อยถูกโรคกับพวกบอลขว้างตูมเดียวมาดวลกันในพื้นที่สุดท้ายเลยหรอก

2. Counter-attack ที่เป็นเกมเคาท์เตอร์จริงๆจากการ "ขุดบ่อล่อปลา" ด้วยการตั้งใจถอยลงไปตั้งรับ เรียกพื้นที่ให้กับ ตัวสวนกลับ ได้มีสเปซในการวิ่งเจาะใช้ความเร็วสวน

(บอล Counter-attack อย่าเอาไปรวมกับ Quick transition นะครับ คนละอย่างกัน อย่างหลังนี่อาจจะไม่มีพื้นที่ให้เล่น ต้องใช้ความรวดเร็วของการโจมตีตอนกระบวนทัพคู่แข่งจัดไม่ทันในระบบยิงให้ได้ของกฎ10วินาที เป็นต้น)

เกม Counter แบบนี้หายไปนานจริงๆ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ใช้จัดการกับเกมเยือนได้ชะงัดนัก

3. ครองบอลทำเกมให้ดีและเหนือกว่าคู่แข่งแบบ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ข้อนี้เหมาะกับคู่ต่อสู้ประเภทที่ยังมีความสูสีกับทีม หรือว่าทีมเราดีกว่าจริงๆ และเรามีเกมครองบอลที่ไว้ใจได้ ใช้งานได้จริงเท่านั้น

ดูเหมือนว่าการพยายามจะส่งทีมด้วยชุดที่ดีที่สุดลงสนามไปของเอริค เทน ฮาก โดยพ่วงชุดความคิดแบบที่สาม ที่จะลงไปเอาชนะกันด้วยคุณภาพนั้น บางครั้งมันไม่ได้อยู่กับความเป็นจริง

ความเป็นจริงที่ว่า ทีมเราเป็นรองกว่าคู่ต่อสู้อีกหลายๆทีมในลีกนี้ ไบรท์ตันก็เป็นหนึ่งในนั้นที่แฟนบอลควรยอมรับว่า เกมการเล่นของเขาคุณภาพดีกว่ายูไนเต็ดจริงๆ

ไม่เกี่ยวกับว่าสโมสรไบรท์ตันแล้วมันดูน่าอาย ไม่ต้องอายครับ เล่นแย่กว่าก็ต้องยอมรับว่าเค้าดีกว่า แพ้ก็แพ้ให้เป็นเท่านั้นเอง มันไม่ยากอะไรเลย

4. ปรับ Formation ด้วยจุดประสงค์ที่ชัดเจน

ถ้าทีมปรับมุมคิดอะไรบางอย่างแค่ว่า บางเกมที่เป็นเกมเยือนซึ่งยากจะไปเอาชนะคู่แข่งด้วยคุณภาพแบบตรงๆ ตาต่อตา ฟันต่อฟันแล้วนั้น บางทีถ้าปรับ "แผน" ในการเล่นด้วยความชัดเจนว่า วันนี้เราจะลงไปเพื่อแพ็คเกมให้แน่นๆ ไม่ให้เจ้าบ้านซึ่งเปิดเกมบุกแน่ๆอยู่แล้วนั้น บุกเข้ามายิงให้ได้ ถ้า "ชัดเจน" ในสิ่งนี้ เราก็จะจัดทีมกันได้แข็งแกร่ง และมีเป้าหมายกว่านี้

เช่น ปรับมาระบบอัดเกมรับแน่นๆด้วยแผนแบ็คทรี เหมือนที่โอเล่ใช้หลายๆครั้งและได้ผลจริง ชนะจริง เช่น 3-4-1-2 หรือจะ 3-4-3 อะไรก็แล้วแต่ ปรับเป็นแผนอะไรก็ได้ที่ related กับสิ่งที่เราเป็นอยู่

การใช้หลังสาม ผมเขียนบอกผู้อ่านเสมอว่ามันไม่ใช่แผนขี้อุด แต่มันเป็นแผนที่ทำให้แอเรียในพื้นที่เกมรับเจาะได้ยาก และสามารถดันเกมรุกได้อิสระมากด้วยหากทีมเข้าใจระบบกันเป็นอย่างดี

การเปลี่ยน formation ถือเป็นตัวเลือกนึงที่เทน ฮาก สามารถหยิบมาเพื่อจะ "เก็บผลการแข่งขันดีๆในเกมเยือน" ได้ เหมือนที่โอเล่เคยทำ

หรือถ้าไม่เปลี่ยนระบบการเล่น ก็ลองเพิ่มฟังก์ชั่นอะไรบางอย่างลงไป เช่น ปรับ  4-2-3-1 เดิม ให้กลายเป็นแผนไฮบริดที่ใช้มิดฟิลด์ลงสนามตรงกลาง 4 คน ใช้แนวรุกสองตัว แต่ยังคงทรงการเล่นเดิมได้ ด้วยการใช้บรูโน่ไปยืน  RW แล้วให้เล่นเป็นมิดฟิลด์ตัวที่สี่ ถ่างออกข้างในยามเล่นรุก และหุบเข้าในมาช่วยไล่บอลในเกมรับ ทีมก็จะสวิตช์ไปเป็น 4-2-2-2 ได้ ตามฟังก์ชั่นการเล่นที่มี กลางต่ำ2-กลางตัวบน2-ตัวรุกแนวหน้า2 เป็นต้น

ตัวอย่างข้างบนนี้คือ ถ้าไม่ปรับระบบการเล่น ก็เพิ่มเติมฟังก์ชั่นการใช้งานลงไปให้เพียงพอ เช่นในรูปแบบนี้ ระบบเดิม 4-2-3-1 เราใช้บรูโน่เป็นเพลย์เมคเกอร์ตัวข้างในเกมรุก เกมรับเราหุบเขาเข้ามาแพ็คกลาง4ตัว ด้วยฟังก์ชั่นการทำงานเป็นมิดฟิลด์คุมกลางกันสี่คน คาเซ+เอริคเซ่น+เฟร็ด+บรูโน่ เกมแดนกลางน่าจะแน่นและทำเกมกันได้ชัวร์กว่าเดิม

ส่วนตัวรุกส่วนกลับก็ไม่ขาด ใช้นักเตะน้อยตัวแค่ ซานโช่ + แรชฟอร์ด (หรือมาร์กซิยาล) ก็พอแล้ว โดยที่ขวาบรูโน่ก็ยังเติมมาอีกคนได้ด้วย

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างทั้งหมด 4 หัวข้อที่ทำให้เห็นว่า การเล่นเกมเยือนของเอริค เทน ฮาก น่าที่จะลองเปลี่ยนวิธีคิดดูบ้าง จากเดิมที่มันเป็นมา ทีมเราไม่ชนะเลยจริงๆ ดังนั้นการที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ต้องเปลี่ยนกันตั้งแต่ต้นน้ำทางด้านความคิดในการลงไปเจอกับคู่แข่งเลย  

การบุกไปเยือนด้วยวิธีการที่ต่างออกไป เช่น ไปเพื่อจะเล่นเกมโต้กลับ ใช้สเปซพื้นที่ว่างให้เป็นประโยชน์จากการถอยต่ำไปเล่น low block บ้างเพื่อขุดบ่อให้ปลามันตามเข้ามา เพื่อจะสวนกลับเข้าจุดตายได้เน้นๆ ไม่ใช่สิ่งที่เสียศักดิ์ศรีเลย

ถ้าเรายอมรับว่าเรายังไม่ดีพอ การหาวิธีต่างๆมาเพื่อจะเอาชนะคู่แข่งให้ได้ มันไม่มีอะไรผิดอะไรถูกหรอกครับ มันมีแต่คะแนน และผลแพ้ชนะเท่านั้นที่สำคัญที่สุด

เหลืออีก2เกมสุดท้าย เยือนเวสต์แฮม และ เยือนบอร์นมัธ ลองสิ่งที่ไม่เคยลองมาก่อนก็ไม่เสียหาย ถ้าปรับได้ก็อยากให้ปรับ ขอผลการแข่งขันดีๆให้ชื่นใจสักเกมก็ยังดี แต่ถ้าไม่ทันก็เดี๋ยวไปรอลุ้นปีหน้าก็ได้ครับ หวังว่าจะรักษาฟอร์มเกมเหย้าที่โอลด์แทรฟฟอร์ดได้ และยกระดับการเล่นเกมเยือนให้ดีกว่านี้สัก 50-60% ก็ยังดี

ยังเชื่อมั่นอยู่ว่าทุกข้อผิดพลาดของปีนี้ จะเป็นบทเรียนที่ดีในการยกระดับทีมให้ดีขึ้นไปอีกขั้นในปีหน้า ปีนี้ค่อยๆเชียร์ให้ทีมทำตามเป้าหมายให้ได้ก็พอ และอย่าลืมว่าเป้าหมายเราคืออะไร

ทีมเราไม่ได้อยู่ในจุดที่จะท้าชิงแชมป์ใหญ่ได้ แต่เราจะต้องเข้าไปให้ใกล้ที่สุด แล้วแก้ไขสิ่งต่างๆไปเรื่อยๆ สักวันนึงมันก็จะเข้าใกล้ไปเรื่อยๆเองเหมือนกัน แพ้ชนะเกิดขึ้นได้เรื่องธรรมดา ถ้าแพ้ให้เป็น และยอมรับความจริงได้ว่าทีมยังไม่ดีพอในตอนนี้

สิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็น "ธรรมดาปัจจุบัน" ของฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเท่านั้นเอง

#BELIEVE 

-ศาลาผี-


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด