:::     :::

บอลเดินสาย "ทางรอด" ไม่ใช่ "ทางเลือก"

วันพฤหัสบดีที่ 08 มิถุนายน 2566 คอลัมน์ ONE MAN SHOW โดย แมน โกสินทร์
953
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ในช่วงที่ฟุตบอลไทยลีกปิดฤดูกาล คอบอลไทยที่หายใจเข้าออกเป็นกลิ่นอายลูกหนังยังพอมีอะไรให้ตื่นเต้น แก้เหงากับการได้เสพความสนุกของลูกหนัง "เดินสาย" โดยเฉพาะรายการชิงเงินรางวัลหลัก "ล้านบาท" ส.คำมี คัพ

รายการนี้มีนักเตะดีกรีไม่ธรรมดาทั้งอดีตนักเตะและค้าแข้งในไทยลีกปัจุบัน บางคนเคยผ่านเวทีระดับทีมชาติไทย เข้าร่วมฟาดแข้งกันเป็นแถว สร้างความครื้นเครงให้กับผู้ชมจนกลายเป็นกระแสทางสื่อโชเชียล โดยเฉพาะนัดชิงชนะเลิศที่มีคนชมการถ่ายทอดสดเกือบแสนวิว 

อย่างไรก็ตามการเอา “ฟุตบอลเดินสาย” มาเทียบกับ “ฟุตบอลอาชีพ” ต้องยอมรับว่า “มาตรฐาน” ต่างๆ ยังสู้ความเป็นอาชีพไม่ได้ 


แต่หากจะพูดเรื่อง “การพัฒนา” ต้องบอกว่ายกระดับกว่าอดีตมาก ตรงนี้ต้องขอชื่นชมฝ่ายจัดมากๆ 

จริงๆ แล้วฟุตบอลเดินสายไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมลูกหนังไทย เพราะถือเป็นหนึ่งในสารตั้งต้นของการปรับเปลี่ยนมาเป็น “ฟุตบอลอาชีพ” ในปัจจุบัน นักเตะชื่อดังหลายคนต่างเคยผ่านเวทีแห่งนี้เป็นประตูสู่การเป็นนักเตะ “อาชีพ” ไม่น้อย 

ใกล้ตัวหน่อยก็คงเป็น “เจ” ชนาธิป สรงกระสินธ์ กองกลางกัปตันทีมชาติไทย ของสโมสร คาวาซากิ ฟรอนตาเล เรื่อยมาจนรุ่นน้องในรั้ว “ช้างศึก” อย่าง “โฟร์แบร์” อนันต์ ยอดวังวาลย์ ปีกจอมพริ้วที่เทิร์นโปร สลัดคราบนักเตะเดินสาย มาสู่ถนนสายอาชีพเต็มตัวเพียง 4 ปี ก็ก้าวมาเป็นทีมชาติไทย ชุดใหญ่


ปัจจุบันกุนซือมากฝีมืออย่าง “โค้ชธง” ธงชัย สุขโกกี ก็ใช้นักเตะเดินสายหลายคน เข้ามาประกอบร่างสร้าง นครปฐม ยูไนเต็ด ที่เบี้ยทำทีมน้อยนิดให้ก้าวไปเถลิงบัลลังก์แชมป์ไทยลีก 2 หรือ เอ็ม-150 แชมเปี้ยนส์ชิพ ที่ผ่านมาได้อย่างยิ่งใหญ่ 

นั่นแสดงว่านักเตะเดินสายบางคน ฝีเท้าจัดจ้านไม่น้อย หากใครฟอร์มเด็ดก็อาจก้าวไปเล่นในระดับอาชีพ หรือก้าวไปเติมฝันติดทีมชาติไทย เหมือน 2 นักเตะที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น 

แต่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา วงการฟุตบอลไทยลีกกราฟพุ่งสุดขีด นักเตะมีเงินเดือนหลักแสน สโมสรมีสปอนเซอร์ตบเท้าเข้าหา มีเงินเดินสะพัดมากมาย จนนักเตะหลายคนไม่มาเล่นเดินสายกันแล้ว 


แต่ด้วยพิษเศรษฐกิจและวงการฟุตบอลลีกอาชีพของบ้านเรากำลังอยู่ในช่วงขาลง สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ลดเงินสนับสนุนทีมทุกระดับตั้งแต่ไทยลีก 1 จนถึง ไทยลีก 3 ถึง 50% และตอนนี้ยังจ่ายเงินไม่ครบ 

เมื่อการแข่งขันถูกปรับมาเป็นแข่งขันแบบข้ามปี เมื่อระยะเวลาการแข่งขันเพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อการเตรียมทีมอย่างปฏิเสธไม่ได้ 

ทำให้สโมสรส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบเต็มๆ โดยเฉพาะการจ้างนักเตะจากเดิมที่เคยเซ็นสัญญากันเต็มปี แต่ตอนนี้บางสโมสรต้องเซ็นสัญญากับนักเตะเพียง 7-10 เดือน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย 

ตอนนี้บางสโมสรยังไม่สามารถจ่ายเงินเดือนให้นักเตะในสังกัดได้เลย ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจและอยากวอนให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสมาคมฯ เร่งหาเงินมาจ่ายให้สโมสรได้ต่อลมหายใจต่อไป 


จากสถานการณ์ของวงการฟุตบอลไทยลีกที่ไม่อู้ฟู่เหมือนเมื่อก่อนทำให้ “ฟุตบอลเดินสาย” เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้บรรดา “หมาล่าเนื้อ” เข้ามาฟาดแข้งกันมากขึ้น 

ส่วนใหญ่นักเตะที่มี “สัญญา” ผูกมัดกับสโมสรจะไม่ค่อยลงมาโม่แข้งมากนัก เพราะเมื่อสโมสรทราบอาจโดนลงโทษสถานหนักจนถึงยกเลิกสัญญาเลยทีเดียว 

ขณะที่นักเตะไม่มีสังกัด กลายเป็นนักเตะฟรีเอเย่นต์ ใช้เวทีนี้ในการหาเงินเอามาจุนเจือครอบครัว ส่วนหนึ่งก็ใช้เวทีนี้ “ปล่อยของ” เผื่อจะมีกุนซือบางสโมสรดึงตัวไปร่วมทัพ เพื่อค้าแข้งในเส้นทางสายอาชีพต่อไป


ดังนั้น “ฟุตบอลเดินสาย” ในปัจจุบันหาใช่ “ทางเลือก” ของนักเตะบอล แต่มันคือ “ทางรอด” ต่างหาก 

ถ้าสถานการณ์การเงินของสมาคมฯ ไม่ดีขึ้น ทีมได้รับผลกระทบจนต้องหายจากสารบบฟุตบอลอาชีพ ไม่แน่อนาคตอันใกล้จาก “ทางรอด” อาจกลายเป็น “ทางหลัก” ของนักเตะก็เป็นได้ 

หวังว่าฟุตบอลอาชีพไทย คงจะไปไม่ถึงจุดนั้น เพราะนั่นคือหายนะของฟุตบอลไทยจริงๆ


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด