:::     :::

ระบบฟอลส์ไนน์ของแมนยูที่ต้องพัฒนาอีกมาก : Tactical Analysis

วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม 2566 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
4,133
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
การใช้งานเจดอน ซานโช่ เป็นกองหน้าในลักษณะของตัว False Nine ยังมีปัญหาในด้านการใช้งานหลายๆอย่างที่ทีมยังไม่ลงตัวกับ "ระบบ" ดังกล่าวนี้ ไม่ใช่ปัจจัยแค่ตัวซานโช่คนเดียว แต่เป็นเรื่องคอนเซปต์การเล่นของทีม จุดอ่อนและการใช้งานระบบฟอลส์ไนน์ของแมนยูมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบเบื้องต้นให้แฟนผีได้ครับ

บทความนี้มีเรื่องราวหนึ่งที่อยากนำมาเขียนเพื่อให้เห็นภาพของปัญหากันแบบชัดๆ ผ่านเกมอุ่นเครื่องนัดที่ทีมแพ้ดอร์ทมุนด์ไปด้วยสกอร์ 2-3 ในความพ่ายแพ้ที่เป็นเกมซึ่งทีมมี performance ที่ต่ำที่สุดจากบรรดาเกมอุ่นเครื่องต่างๆ สิ่งต่างๆที่ไม่ดีเหล่านี้เราสามารถหยิบมาเป็นประโยชน์เพื่อดูว่า "เราผิดพลาดเรื่องใดบ้าง" จะได้เอาจุดอ่อนนั้นไปแก้ และระมัดระวังกันอีกที เมื่อยามที่ถึงเวลาลงแข่งจริงในช่วงกลางเดือนสิงหาคม กับเกมนัดแรกวันที่ 15 สิงหา ที่จะเปิดบ้านเจอกับวูล์ฟแฮมพ์ตัน

รีบๆพลาดในนัดอุ่นเครื่องนี่แหละดีแล้ว พลาดแพ้ก็แค่โดนล้อโดนแซะ แต่ในด้านของผลการแข่งขัน ไม่ได้คอขาดบาดตายอะไรขนาดนั้น

ค่อนข้างชัดเจนว่า ปัญหาที่สะท้อนออกมาในเกมพ่ายแพ้ดอร์ทมุนด์ ยังคงเป็นเรื่องของผู้เล่นตำแหน่งกองหน้า ที่ทีมยังคงรอคอยการมาของราสมุส ฮอยลุนด์ ที่จะมาเซ็นสัญญากันในสัปดาห์นี้ ทำให้เกมนี้ยูไนเต็ดยังต้องเล่นด้วยระบบที่ใช้ "กองหน้า False Nine" อย่างที่เราเห็นกัน ซึ่งมันยังไม่ดีพอในแง่ของการสร้างสรรค์เกมในจังหวะสุดท้าย และจบสกอร์ให้ทีมเอาชนะคู่แข่ง

สิ่งนี้เป็นปัญหาเพราะเจดอน ซานโช่ ไม่ดีพอในตำแหน่งฟอลส์ไนน์ใช่หรือไม่ เราต้องตอบว่า "ไม่ใช่" เพราะปัญหามันเกิดขึ้นจากหลายอย่างประกอบกัน จากข้อสังเกตเรื่องแทคติกดังต่อไปนี้


1. เรากำลังพูดถึง "ตัวระบบ" ไม่ได้พูดถึงผู้เล่นที่เป็นตัว False Nine

ระบบฟอลส์ไนน์เป็นการใช้ตัวผู้เล่นที่ลงไปเล่นเหมือนจะเป็นกองหน้า แต่เวลาเล่นในสนาม ผู้เล่นฟอลส์ไนน์จะไม่ไปยืนเล่นอยู่ในตำแหน่งกองหน้าจริงๆ (ชื่อถึงได้บอกอยู่แล้วว่ามันเป็นตัว False หรือกองหน้าเทียมๆนั่นล่ะ) นี่คือจุดเด่นของฟอลส์ไนน์เลย คือจะไม่ไปเล่นในหน้าที่ของกองหน้า แต่จะลงต่ำมามีส่วนร่วมกับทีม

ดังนั้น เมื่อทีมเล่นในแผนนี้ ในสนามเราจะ "ไม่มีกองหน้าตัวจริง" เล่นอยู่ในนั้น ไม่ว่าใครจะเป็นผู้เล่นที่มาเป็นตัว False Nine ก็ตาม มันจึงเป็นแผนที่พูดได้ว่าไม่มีกองหน้า น่าจะถูกที่สุด ซึ่งตัวเล่นที่ลงไปนั้น จะเล่นในตำแหน่งอื่นแทน เช่นเป็นตัวรุกที่ยืนต่ำในระนาบเดียวกันกับกลางรุก หรือล่าสุดในเกมนี้ของแมนยูกับดอร์ทมุนด์ ตัวฟอลส์ไนน์ของซานโช่ เล่นเป็นเสมือน "ปีกตัวที่สาม" ของระบบการเล่นของทีมที่ใช้ปีกซ้ายเป็นฟาคุนโด้ ปีกขวาเป็นฟอร์สัน ซานโช่ถ่างออกมาช่วยเกมด้านข้างค่อนข้างเยอะ

ตัวระบบของทีมจึงเปลี่ยนทั้งยวง

ตัวอย่างของแผนฟอลส์ไนน์เราเคยเห็นกันมานานแล้ว ผ่านทีมที่เน้นการครอบครองบอลเป็นอาวุธหลัก เช่นบาร์เซโลน่าเป็นต้น ที่เคยใช้ฟาเบรกาส ไปเป็นแนวรุกตัวพิเศษแบบนี้ หรือแบบเดียวกับ ดูซาน ทาดิช ของเอริค เทน ฮาก เอง ที่เล่น role F9 นี้ตอนอยู่ด้วยกันที่ Ajax

ทั้งสองทีมมีพื้นฐานการเล่นที่เน้นเป็นพิเศษเรื่องของการครอบครองบอล เมื่อยามที่ไม่มีกองหน้าแท้อยู่ในทีม พวกเขาเหล่านี้ปรับมาเล่นฟอลส์ไนน์ ตามความจำเป็นของแทคติกและแผนการเล่น

ดังนั้น ในประเด็นแรกนี้ คือการอธิบายเพื่อความเข้าใจกันก่อนว่า การใช้ False Nine มันสัมพันธ์กันกับระบบของการเล่นในสนาม มากกว่าจะเกี่ยวพันกับการเล่นของนักเตะคนเดียวที่รับหน้าที่นี้

ลองคิดตามกันง่ายๆว่า ทีมที่ไม่มีกองหน้า จะต้องเล่นยังไง จะอธิบายในข้อต่อไป

2. นักเตะในทีมทุกคนจะต้องเข้าใจระบบตรงกัน

แผนการเล่นที่ใช้ False Nine เนื่องจากมันไม่มีกองหน้าตัวประจำการในพื้นที่สุดท้าย ไม่มีคนรับหน้าที่จบสกอร์ให้ทีม ดังนี้นี่คือมิติที่ทีมขาด สิ่งที่นักเตะทั้งทีมจะต้องทำ เวลาทีมๆหนึ่งใช้ False Nine ก็คือ "ผู้เล่นทุกตำแหน่งจะต้องเข้าใจแผนเป็นอย่างดีว่า จังหวะไหนต้องเติมเกมขึ้นไปช่วยทีมในการเข้าทำพื้นที่สุดท้าย และช่วยทีมพังประตู เพื่อทดแทนกองหน้าที่หายไป

ทีมเวิร์คจากผู้เล่นตำแหน่งอื่นๆสำคัญมาก

เนื่องจากว่า ระบบนี้มันมีข้อดี-ข้อเสียอยู่ในตัว ข้อเสียก็คือ ทีมคุณจะไม่มีกองหน้าตัวรอจบ ไม่มีตัวเล่นประจำการในแดนสุดท้าย แต่ข้อดีคือ ทีมจะมีผู้เล่นที่เซ็ตบอล ทำเกมมากขึ้นกว่าเดิมหนึ่งตัว

สิ่งที่ทีมฟุตบอลหนึ่งจะใช้แผนนี้ จะต้องคำนึงอยู่เสมอคือ หากคุณเล่นฟอลส์ไนน์ ทีมของคุณจะต้องมีการครอบครองบอล และทำเกมที่เหนือกว่าคู่ต่อสู้อย่างเด่นชัด(dominant)เท่านั้น มันถึงจะทดแทนข้อด้อยที่คุณขาดกองหน้าไปจากทีม

เมื่อครองบอลเหนือกว่า ทำเกมเหนือกว่า ค่อยใช้ข้อได้เปรียบตรงนี้ หาผู้เล่นตำแหน่งต่างๆ ขึ้นไปจบสกอร์ให้ทีมเพื่อทดแทนกองหน้า

ดังนั้น การจะใช้ฟอลส์ไนน์ มันเป็นดาบสองคมที่ต้อง "บริหารคม" ให้ดีทั้งสองด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการครองบอลทำเกม และด้านการทดแทนเรื่องจบสกอร์ให้กองหน้า

ระบบนี้ต้องใช้ความเข้าใจสูง เพราะถ้าผู้เล่นในทีมไม่มีใครเติมเกมขึ้นไปเพื่อช่วยจบสกอร์เลย มันก็เหมือนทีมฟุตบอลที่ขาดเพชฌฆาต ดีแต่ป้อล่อไม่เป็นนั่นเอง

3. เจดอน ซานโช่ กับบทบาทกองหน้าฟอลส์ไนน์

เห็นได้ชัดเจนว่า เอริค เทน ฮาก กำลังพยายามทำอะไรบางอย่าง ที่ส่งเจดอน ซานโช่ ลงสนามเป็นตัวจริงต่อเนื่องกันตลอดหลายๆนัดที่ผ่านมา และได้ลงเล่นร่วมกันทั้งกับทีมชุดตัวจริง (เซ็ตA) และทีมเซ็ต B เช่นวันนี้เขาได้ลงเป็นตัวจริงในตำแหน่งกองหน้า F9 ให้กับทีมชุดสองที่มีนักเตะตัวสำรองลงสนามกัน เช่นพวกแมกไกวร์ ลินเดอเลิฟ แม็คโทมิเนย์ ดอนนี่ แบรนดอน

เนื่องจากว่า กองหน้าของทีมตอนนี้เราไม่เหลือใครแล้วจริงๆ หากตัดเหล่านักเตะดาวรุ่งเยาวชนที่ยังใช้งานจริงๆไม่ได้ออกไป เช่นพวกโจ ฮิวกิลล์ / ชาร์ลี แม็คนีล กองหน้าแท้ๆในทีมแมนยูไนเต็ดตอนนี้มีแค่คนเดียว แถมเป็นคนเดียวที่เจ็บบ่อย เจ็บเรื้อรัง เจ็บยาว นั่นก็คือ อ็องโตนี่ มาร์กซิยาลนั่นเอง

ปัญหาเรื่องกองหน้าค่อนข้างซีเรียสมากในเรื่องของมิติการเล่นของทีม

ขณะนี้ดีลของ ราสมุส ฮอยลุนด์ ประกาศ Here We Go ที่สามารถตกลงข้อเสนอกันได้แล้ว ที่เหลือคือรอแค่ฮอยลุนด์เดินทางมาตรวจร่างกายและเซ็นสัญญาเท่านั้น ซึ่งก็กำลังจะมีกองหน้าตัวหลักในตำแหน่งหน้าเป้าธรรมชาติกลายเป็น "สองคน" ในเร็วๆนี้

แต่เอาจริงๆก็ยังน้อยอยู่ดี

ดังนั้นเอริค เทน ฮาก ดูเหมือนว่าเขาพยายามที่จะทดลองใช้ และเชื่อว่าเจดอน สามารถเล่นในตำแหน่งเดียวกันกับที่ทาดิชเคยรับผิดชอบหน้าที่นี้ได้ ด้วยสกิลทักษะและความสามารถที่เป็นนักเตะพรสวรรค์สูงที่มีเทคนิคการเล่นดี ทำอะไรได้หลากหลาย และมีคุณภาพการเล่นที่สามารถรับผิดชอบได้ทั้งเกมริมเส้น และเกมตรงกลาง งานนี้เป็นซานโช่ที่เทน ฮาก คิดจะปั้นขึ้นมาเป็นกองหน้าตัวฟอลส์ไนน์ของแมนยูขึ้นมา

ส่วนเรื่องของปีกตัวรุก ซึ่งเคยเป็นตำแหน่งเก่าของซานโช่มาก่อน เอริค เทน ฮาก สามารถเลือกใช้งาน มาร์คัส แรชฟอร์ด, อเลฮันโดร การ์นาโช่ และ อันโทนี่ เป็นตัวขึงริมเส้นหลักอยู่แล้ว 

ดังนั้น พอทีมมีปีกตัวริมเส้นที่เพียงพอ สามารถเลือกจิ้มใช้ใครก็ได้ จะดึงบรูโน่ถ่างออกไปเล่น Wide Playmaker ทางขวา หรือแม้กระทั่งการเก็บ Amad Diallo เอาไว้เป็นหน้าขวา ดังนั้นจะเห็นได้เลยว่า ตัวรุกด้านข้าง ทีมมี option การเล่นที่เยอะพอสมควร ดังนั้นหลังจากนี้ เจดอน ซานโช่ จะถูกพิจารณาเรื่อง priority ในการลงตำแหน่ง ที่ค่อนข้างหลากหลาย และยืดหยุ่นกว่าเดิม

ไม่ได้ถูกประจำการในตำแหน่งปีกตัวรุกอีกต่อไป เขาจะถูกส่งลงไปเล่นแล้วแต่สถานการณ์ของแต่ละเกม และเอริค เทน ฮาก ปั้นซานโช่เพื่อจะให้เล่น False Nine ให้ได้ เพื่อจะทดแทนความ "บาง" หรือการขาดตัวผู้เล่นในด้าน Squad Depth  ของทีมในตำแหน่ง "กองหน้า" นั่นเอง

คือพูดกันตามตรง ด้วยงบประมาณ ด้วยกฎFFP จะให้เราไปหากองหน้าตัวที่สามเข้ามาผ่านการซื้อเสริมทีม คงเป็นไปได้ยากแล้ว เพราะงั้นเทน ฮาก จึงเลือกวิธีแก้ปัญหาด้วยการใช้ตัวที่มีศักยภาพ มาทดลองให้เล่นเป็นตัว False Nine เพื่อสร้างขึ้นมาเป็น "ตัวรุกตรงกลาง" เพิ่มขึ้นมานั่นเอง

เท่ากับว่า เราจะมีทางเลือกในตำแหน่งกองหน้าตัวกลางทั้งหมด "4คน" จากการปั้นซานโช่ขึ้นมาเพื่อการนี้ คือ

1. Hojlund

2. Martial (ถ้าไม่บาดเจ็บ)

3. Rashford

4. Sancho 

สิ่งที่ผู้อ่านอยากจะรู้ก็คือ แล้วซานโช่ที่เล่นฟอลส์ไนน์ เหมาะกับบทบาทไหม หรือว่าดีพอหรือยัง?

เราจะบอกว่า "ทีมยังต้องปรับการเล่นต่อไปให้ดีกว่านี้" ด้วยข้อสังเกตง่ายๆเลยก็คือ เมื่อซานโช่ลงสนามให้เรา แฟนบอลยังไม่เห็นการเข้าทำที่สามารถสร้างประโยชน์ในเกมรุกได้อย่างจริงจังเลยในพื้นที่สุดท้าย ทั้งในภาคการสร้างสรรค์เกม (Create Chances) ให้กับทีม รวมถึง Shot Actions ต่างๆ ที่เราควรต้องได้ลองจบสกอร์ดูบ้าง

ส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่า เมื่อใช้ระบบฟอลส์ไนน์ ทีมยังมีเกมรุกที่ยัง "ไม่ดีพอ" และต้องพัฒนาในตรงนี้ต่อไป

ขีดเส้นใต้ให้เห็นชัดๆว่า "ทีม"

เพราะถึงเราจะบอกว่า การใช้ซานโช่เป็นฟอลส์ไนน์ จะยังทำเกมรุกได้ไม่จะแจ้ง แต่ก็ต้องย้อนกลับไปยังข้อ 1. ที่เราเกริ่นว่า ฟอลส์ไนน์มันเป็นเรื่องของระบบ ไม่ใช่ตัวผู้เล่น เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ใช่ความรับผิดชอบของเจดอน ซานโช่ แค่คนเดียวที่ทีมยังมีเกมรุกไม่เฉียบขาดในตอนนี้

ผู้เล่นตำแหน่งอื่นต้องช่วยด้วย ไม่ใช่ให้ซานโช่เป็นตัวรับผิดชอบอยู่คนเดียว แล้วตีตราว่า "เพราะใช้ซานโช่เป็นฟอลส์ไนน์ ทีมถึงยิงไม่ได้" 

มันจึงเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาต่อไปด้วยกัน ทั้งทีมเราที่จะใช้ระบบนี้ในบางครั้ง รวมถึงตัวซานโช่ด้วยว่า หากอยากจะเล่นฟอลส์ไนน์ให้ดีกว่านี้ อาจจะต้องรับภาระในการเล่นพื้นที่สุดท้ายที่สร้างทีเด็ดทีขาดให้ได้มากกว่าเดิม ต้องกล้าเล่นกล้าทำเกมมากกว่านี้ เพื่อช่วยเพื่อนด้วย ในยามที่ทีมเรายังไม่มีตัวเติมที่เข้ามาชี้เป็นชี้ตายได้ในพื้นที่สุดท้าย ซานโช่อาจจะต้องทำงานให้หนักขึ้นเพื่อทดแทนตรงนี้ให้เพื่อนๆนั่นเอง

4. ตัวอย่างของระบบที่ใช้ฟอลส์ไนน์ และการใช้งานของแมนยูไนเต็ด

เรื่องของฟอลส์ไนน์นั้นจริงๆเป็นเรื่องในเชิง Conceptual System เป็นเรื่องทางด้านคอนเซปต์ของระบบ มากกว่าตัวบุคคล และจะไม่มีการ fix ว่าจะต้องเล่นแบบนี้เท่านั้น แต่จุดคิดหลักๆจะเป็นเหมือนอย่างภาพด้านบนนี้คือ พื้นที่กองหน้า(วงกลมเส้นประ) ที่จะต้องเป็นตำแหน่งของกองหน้าจริงๆ (True Nine) จุดนั้นจะไม่มีคนเล่น และตัว False Nine จะถอนต่ำลงมาเสมอ เพื่อเปิดทางให้ผู้เล่นตำแหน่งอื่นๆขึ้นไปเข้าทำแทน

ระบบที่เหมาะกับฟอลส์ไนน์ จึงเป็นระบบที่ทีมดังกล่าว "มีปีกตัวเข้าทำเก่งๆ" อยู่แล้ว ยกตัวอย่างแบบง่ายที่สุด กับทีมที่แฟนผีอย่างเราไม่อยากจะพูดถึงมากที่สุด ก็คือลิเวอร์พูลตอนที่ใช้ฟร้อนท์ทรีเป็น SMF

พวกเขามีมาเน่ กับ ซาลาห์ เป็น Inside Forward ที่เข้าทำประตูกันได้ดีทั้งสองคน ดังนั้นตัวที่จะสอดรับการเล่นซึ่งเคลื่อนที่ได้อย่างลงตัวเช่นนี้ กองหน้าตัวกลางจะต้องถอนต่ำลงมาเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับปีกสองข้างขึ้นไปยิงประตู

โรแบร์โต้ ฟีร์มีโน่ จึงเป็นกองหน้า False Nine ที่มาถูกที่ถูกเวลากับระบบของลิเวอร์พูลในขณะนั้น

แต่กลับกัน ในด้านระบบของยูไนเต็ด ทีมยังไม่มีความเด่นชัดในเรื่องตำแหน่งการเล่น ที่ตอนนี้อยู่ในระหว่างการปรับอยู่ ซานโช่จึงไม่สามารถแสดงฤทธิ์เดชการเล่นได้เหมือนที่กองหน้าF9อย่าง ฟีร์มีโน่ทำได้ จากหลายๆปัจจัย เช่น บอลซัพพอร์ทจากแดนกลาง / ตำแหน่งในสนามที่ยังมีความสับสนกันอยู่

และรวมถึง "ตัวเล่นที่จะสอดขึ้นไปทำประตูแทนกองหน้า False Nine ของยูไนเต็ด ยังไม่มีประสิทธิภาพพอ"

ข้อนี้เป็นจุดตายของแมนยูในตอนนี้ที่ทำให้ระบบฟอลส์ไนน์ยังทำงานไม่เต็มที่ เนื่องจากตัวเล่นที่จะสอดขึ้นไปยิง เอาจริงๆมีใช้งานได้แค่ข้างเดียวคือ มาร์คัส แรชฟอร์ด ทางฝั่งหน้าซ้าย ส่วนทางด้านขวา มีปัญหาหนักตรงที่ อันโทนี่ เป็นตัวรุกที่เด่นเรื่องพละกำลังและความดุดันเหนียวแน่นในการครองบอล แต่การทำเกมรุก และการจบสกอร์จังหวะสุดท้าย เป็นจุดอ่อนของเจ้าตัวเลยด้วยซ้ำที่ยังไม่ดีพอ

ดังนั้น ถ้ายูไนเต็ดใช้ False Nine เล่นจริงๆ เราจะมีปัญหาในภาคการเข้าทำมากๆ เพราะตัวเล่นตำแหน่งอื่น ยังสอดขึ้นมายิงทดแทนกองหน้า False Nine ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

ไม่ใช่แค่ตัวสอดมายิงไม่มี ความเข้าใจในการใช้งาน False Nine ก็ยังต้องฝึกกันอีกเยอะด้วย


ภาพนี้ให้ดูเป็นตัวอย่างของปัญหาในภาคการใช้งานระบบ False Nine ของแมนยูในเกมเจอดอร์ทมุนด์ ที่เราแคปมาได้ สังเกตเลยว่า ตำแหน่งของซานโช่จะยืนอยู่ในระนาบการทำเกมร่วมกันกับตัวแนวรุกคนอื่นๆ เช่น ดอนนี่ ฟานเดอเบค (ขยับถ่างไปบน) รวมถึงตัวเติมที่ดันเกมสูงขึ้นมาอย่าง Diogo Dalot ในรูปนี้ ส่วนทางซ้ายล่าง เป็นฟาคุนโด้ เปลลิสตรี ที่รอการทำเกมจากอันโทนี่ทางขวาอยู่

คำถามคือ การเล่นที่ใช้ฟอลส์ไนน์เช่นนี้ ถึงเวลาที่โจมตีจริงๆ เรามีตัวเล่นไหนที่สามารถเติมขึ้นมาทำเกม หรือ ยิงประตู ให้ได้แบบจริงๆจังๆหรือไม่ มันก็ยังไม่มีตัวแบบนั้นถ้าเทียบกับทีมอื่นที่ใช้ฟอลส์ไนน์แล้วมีตัวเข้าทำคนอื่นๆทดแทน

ประเด็นสำคัญคือ "ตัวฟอลส์ไนน์ไม่ใช่ตัวที่ต้องรับภาระในการจบสกอร์ด้วยตัวเอง" เพราะงั้น แผนจะมีประสิทธิภาพได้ คุณต้องมี "ตัวจบคนอื่น" อยู่ในสนาม

ซึ่งในภาพนี้ ทีมชุดแรกที่ลงสนามไป เป็นทีมเซ็ต B ที่ไม่มีตัวจบอยู่เลย ไม่ว่าจะเป็นฟาคูที่เล่นดีก็จริง แต่น้องก็ยังเจาะเข้าไปยังพื้นที่สุดท้ายไม่ไหว เนื่องจากการแพ็คเกมรับแน่นๆของดอร์ทมุนด์ หรือจะเป็นปีกขวาครึ่งแรกที่ลงสนามไปก่อนอย่าง โอมารี ฟอร์สัน ก็ยังเป็นแค่ดาวรุ่งที่ทำอะไรไม่ได้ เกมของซานโช่ในการเป็นกองหน้าฟอลส์ไนน์จึงยังไม่มีประสิทธิภาพพอ เพราะไม่มีตัวช่วยเข้าทำที่ดีในสนาม

ภาพนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดที่สุดของการลงต่ำมาทำเกมของกองหน้าฟอลส์ไนน์ อย่างซานโช่ ที่พอลงต่ำมาแล้วมันไม่มีตัวเล่นที่จะสอดขึ้นไปเข้าทำในพื้นที่สุดท้ายเลย นักเตะแมนยูไนเต็ดยังไม่มีการเคลื่อนที่หาตำแหน่งที่สอดรับกับระบบนี้มากพอ ซานโช่ลงต่ำมาเล่น Link-up ได้ค่อนข้างดี จากการได้สัมผัสบอลเยอะ และลงมาใช้พื้นที่แดนล่างบ่อยครั้ง แต่การสอดขึ้นไปยัง final third ยังไม่อันตรายพอ

ตัวเล่นตัวเดียวของทีมเซ็ตครึ่งแรกที่ลงสนามไป และโจมตีในพื้นที่สุดท้ายได้ดีในเรื่องของการหาตำแหน่ง และการเล่นในกรอบ คือ "ดอนนี่ ฟานเดอเบค" ซึ่งดอนนี่ก็เล่นเป็นมิดฟิลด์เบอร์10 ที่เติมเกมรุกในลักษณะของการเล่น "Support" เกมรุกในพื้นที่อันตราย มากกว่าที่จะเป็นตัวเติมขึ้นมาจบสกอร์เอง

สองคนนี้จึงเล่นบอลเกมรุกทันกันได้อย่างดี ด้วยเซนส์บอลและไอคิวฟุตบอลที่ดีทั้งคู่ แต่สิ่งที่สองตัวนี้ขาดอยู่คือความดุดันในการเข้าทำนั่นเอง

มันถึงไปด้วยกันได้ แต่ก็ยังไปไม่สุดสายอยู่ดี แค่ยังขาดนิดขาดหน่อยเท่านั้น ไม่ได้แปลว่าสองคนนี้กากแต่อย่างใด

การได้แอสซิสต์ไป 1 และ interception ในจังหวะ counter-press จนอันโทนี่ได้โอกาสยิงประตูในลูกที่สอง เป็นคำตอบที่ดีว่า DVB เป็นตัวเล่นในพื้นที่สุดท้ายที่อ่านเกมและ ซัพพอร์ตตัวรุกอื่น เป็นหลักนั่นเอง

เขียนมาถึงตรงนี้ ทีมก็ยังขาด "เพชฌฆาต" ตัวจบสกอร์อยู่ดี

ช็อตนี้คืออีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้ False Nine ที่ไม่เต็มระบบ ใช้แล้วยังขาดๆเกินๆ เนื่องจากการดรอปต่ำลงมาทำเกมของตัว False Nine อย่างซานโช่ในภาพข้างบนนี้ที่กำลังครองบอลอยู่ เขาลงต่ำและถ่างออกมาช่วยฟอร์สันด้านข้างทำเกมเอง การเล่นกลายเป็นปีกตัวที่สามไปเลยในภาคปฏิบัติ

แต่ปัญหาคือ ตัวเล่นที่จะเข้าทำ ยังมาไม่ถึงในพื้นที่สุดท้าย

ทั้งทางปีกซ้ายในรูปนี้ (ฟาคุนโด้) และกองกลางอย่างฟานเดอเบค ที่กำลังวิ่งตามขึ้นมายังพื้นที่สุดท้าย เราจะเห็นพื้นที่ตรงกลางเยอะมากที่ไม่มีนักเตะแมนยูอยู่ตรงนั้น ทั้งวงกลมจุดที่วงไว้ว่ามันขาดกองหน้าค้ำอยู่ รวมถึงด้านหน้าแผงหลังดอร์ทมุนด์(ที่ DVB กำลังวิ่งขึ้นมา) ก็ไม่มีเช่นกัน

ภาพข้างบนนี้จะเห็นชัดว่า ตำแหน่งกองหน้าของทีม มีฟาคุนโด้ มุดเข้ามาอยู่ในพื้นที่ pocket ระหว่างแนวแผงหลังดอร์ทมุนด์ กับกองกลางที่ป้องกันพื้นที่อยู่ ถึงแม้จะเป็นการขยับตำแหน่งเข้ามาทดแทนการเล่นในพื้นที่สุดท้ายได้ดีในเรื่องของวิธีคิด แต่ในเรื่องประสิทธิภาพการเล่นจริง ฟาคุนโด้หุบเข้ามาตรงกลางในพื้นที่ไข่แดงแบบนี้ ก็สร้าง impact ในการเล่นได้ยากอยู่ดี ไม่เหมือนกับการเล่นปีกในพื้นที่ด้านข้างฝั่งซ้ายขวาที่ทำได้ดีกว่า

ข้อนี้คืออีกหนึ่งจุดอ่อนของแผนฟอลส์ไนน์ ที่เราเขียนมาตลอดว่า แมนยูใช้แผนนี้ แต่เรายังไม่มีตัวเข้าทำที่ดี เพื่อทดแทนมิติของฟอลส์ไนน์ที่ไม่ได้ยืนค้ำในแดนหน้า

นั่นคือความไม่เข้ากัน และไม่สมดุลที่เกิดขึ้น

ทุกๆปัญหาของการใช้ False Nine ของแมนยู จึงเห็นชัดว่า เมื่อซานโช่ลงต่ำมาทำเกมแล้ว ทีมเราไม่มีตัวเข้าทำในพื้นที่สุดท้าย ในการไปทำเกมรุกและจบสกอร์ให้ทีมนั่นเอง ทีมจึงไม่มีเกมรุกที่อันตราย 

สองประตูที่ได้ก็มาจากลูกยิงนอกกรอบทั้งสิ้น ไม่สะท้อนเรื่องของระบบการเล่นที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการใช้ฟอลส์ไนน์แบบไม่สมบูรณ์นั่นเอง

5. Conclusion

สรุป เรื่องของการใช้ระบบ False Nine ที่แมนยูพยายามทดลองให้เจดอน ซานโช่ เล่นกับทีมในระบบนี้นั้น เป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาอีกเยอะ หากจะใช้แบบจริงๆจังๆ เพราะเรายังขาดอะไรอีกหลายๆอย่าง เช่นความเข้าใจของผู้เล่นที่จะต้องมากกว่านี้ในการเล่นแบบไม่มีกองหน้าตัวจริงค้ำแดนบน

มันจะกลายเป็นข้อเสียมากกว่าข้อดี ถ้าเล่นระบบฟอลส์ไนน์แล้วทีม "บ้อท่า" หรือไม่มีปัญญาในการบุกใส่คู่แข่งเพื่อให้ได้ประตูมา มันจะกลายเป็นแผนที่มีปัญหาทันที

เราก็หวังว่ายูไนเต็ดจะกลับไปเล่น 4-3-3 หรือ 4-2-3-1 แบบปกติได้ หลังจากการเข้ามาของ ราสมุส ฮอยลุนด์ ที่กำลังจะ official ในเร็วๆนี้ เมื่อได้กองหน้าเข้ามา ระบบการเล่นก็จะกลับไปเป็นธรรมชาติ นักเตะของเราหลายๆคนก็จะได้กลับตำแหน่งและเล่นกันได้อย่างลงตัวมากกว่าเดิม

กองกลางสองตัวหลักของทีม เราจะเลือกใช้ เมาท์ + บรูโน่ เป็นกำลังหลักของทีม โดยมีคาเซมิโร่คุมอยู่ด้านหลัง สองตัวนี้จะช่วยซัพพอร์ตกองหน้าตัวเป้าได้ดี ทั้งการเติมเกมด้วยไดนามิคการเล่นที่ให้กองกลางเราแน่นขึ้นจากเมาท์ รวมถึงการปั้นเกมของบรูโน่ แฟร์นันด์ส ลูกจ่ายของบรูโน่จะมี "เป้า" และสามารถคาดหวังให้กลายเป็นการปั้นประตูได้ทันที หากมีกองหน้าสายวิ่งที่มีสปีดความเร็วสูงแบบฮอยลุนด์เข้ามาในทีมเร็วๆนี้

แต่ในทางกลับกัน ถ้าให้ทีมเล่นในระบบฟอลส์ไนน์ บรูโน่ แฟร์นันด์ส จะมีปัญหาพอๆกับซานโช่ เพราะทีมจะขาดตัวค้ำแดนบน แล้วภาระก็จะไปตกกับแรชฟอร์ดตัวเดียว ซึ่งก็แล้วแต่เกมด้วยว่านัดไหนแรชชี่เล่นออก หรือเล่นไม่ออก ยิ่งบางครั้งโดนประกบตัดทางที่บอลจะไปถึงแรช ยิ่งหนักเข้าไปอีก

พูดกันแบบตรงๆอย่างไม่เกรงใจเทน ฮากว่า ปัจจัยที่แมนยูจะใช้ระบบฟอลส์ไนน์ในตอนนี้นั้น มันยังไม่ลงตัว ถ้าเลือกได้ก็ขอใช้กองหน้าตัวเป้าแบบปกติดีกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าถึงเวลาที่มันขาดแคลนจริงๆ เช่น ฮอยลุนด์เจ็บ หมากเฝ้าโรง'บาล ปีกซ้ายเหลือแรชฟอร์ดคนเดียว ก็คงจะจำเป็นต้องเล่นด้วยฟอลส์ไนน์เพื่อแก้ปัญหากันต่อไป

ระบบนี้เหมาะกับบางเกม และไม่เหมาะกับบางเกม ที่แน่ๆ ยูไนเต็ดยังใช้ฟอลส์ไนน์อย่างเต็มที่ไม่ได้แน่ๆ ต้องพัฒนากันอีกยาว

ให้กำลังใจและตามดูกันต่อไปครับ เตรียมๆเอาไว้ก่อนแบบนี้จริงๆก็ไม่เสียหายหรอกสำหรับเกมอุ่นเครื่อง แต่ถ้าเลือกได้ ทีมเราควรจะเล่นด้วยการใช้กองหน้า True Nine คงจะดีกว่าครับในฤดูกาลนี้

#BELIEVE 

-ศาลาผี-


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด