:::     :::

"เกมริมเส้นแมนยูยังต้องยกระดับ" [Case Study : การทำประตูของซิตี้]

วันเสาร์ที่ 12 สิงหาคม 2566 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
1,615
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
แมนซิตี้เปิดหัวพรีเมียร์ลีกได้อย่างสวยงามด้วยสกอร์ 3-0 จากการเข้าทำที่เฉียบคม หนึ่งในประตูเหล่านั้นของพวกเขา ทำให้เราเห็นว่า "เกมริมเส้น" คือจุดที่แมนยูไนเต็ดยังขาดอยู่ในตอนนี้ และต้องรีบพัฒนาให้ดีขึ้น ถ้าอยากจะแข็งแกร่งมากกว่าเดิม นี่คือเคสตัวอย่างที่แมนซิตี้ทำให้ปีศาจแดงเห็น

แมนเชสเตอร์ซิตี้เปิดหัวพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ด้วยผลลัพธ์การแข่งขันที่ยอดเยี่ยม แม้ฟอร์มจะยังไม่เข้าที่ และโดนเบิร์นลีย์บุกสวนอยู่บ้าง แต่จุดแข็งหลายอย่างของพวกเขายังอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการใช้งานพื้นที่ด้านกว้างของสนาม โจมตีคู่แข่งจากบริเวณริมเส้น ยังคงเป็นอาวุธที่ใช้ได้ผลเสมอ ซึ่งเป๊ปไม่เคยปล่อยให้การโจมตีริมเส้นอ่อนลงเลยแม้แต่ฤดูกาลเดียว

การได้เห็นความแข็งแกร่งในเรื่องนี้ของพวกเขา มันทำให้เราในฐานะแฟนแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด พิจารณาเห็นความแตกต่างระหว่างทั้งสองทีม และสิ่งที่แมนยูไนเต็ดยังคงขาดในเรื่องของมิติการเล่นดังกล่าวอยู่ เพราะฉะนั้นการศึกษาการเล่นจากทีมที่แข็งแกร่งอยู่แล้วอย่างซิตี้ จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาแมนยูเราให้ยกระดับขึ้นไปดีกว่านี้ 

ไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่อย่างใด 

ดังนั้นในวันนี้ เราจึงอยากนำเสนอประตูการเล่นที่สวยงามของแมนซิตี้ ที่เป็น team goal ในจังหวะการเล่นต่อบอลกันด้วยทีมเวิร์ค โดยใช้งานพื้นที่ริมเส้นเป็นอาวุธหลักในการเจาะทะลวง และทำลายแนวรับคู่แข่งให้เสียศูนย์ จะได้เห็นชัดๆว่า เกมริมเส้นมันใช้งานได้ดียังไง และแมนยูยังต้องปรับปรุงอีกมากแค่ไหน

ประตูนี้คืออีกหนึ่งตัวอย่างของการเล่นที่สามารถใช้พื้นที่ในสนามเจาะจุดอ่อนจนแนวรับคู่แข่งรวนจนเป็นประตูได้สำเร็จ ไปดูกันทีละจังหวะเลยว่า เกิดอะไรขึ้นบ้างในการเล่นแต่ละช็อตของพวกเขา

เคสแรก : ประตู 0-2 Team Goal ที่เกิดจากการเจาะริมเส้นของวิงแบ็ค 

1. จังหวะที่เป็น "Key Action" ซึึ่งเป็นกุญแจสำคัญของประตูในเคสนี้ อยู่ที่ภาพแรก จับตาดูการเล่นที่ถ่างและขึงริมเส้นของแบ็คทั้งสองข้างของแมนซิตี้ ตัวด้านบนคือ ไคล์ วอล์คเกอร์ ในกรอบสีฟ้า ส่วนด้านล่างแม้ว่าจะไม่มีส่วนกับประตูนี้ แต่ให้ดู positioning ของ Rico Lewis ที่ทิ้งระยะและขึงพื้นที่ด้านข้างเอาไว้เช่นกัน

การรักษาตำแหน่งชิดริมเส้นของผู้เล่นซิตี้ จะทำให้แนวรับคู่แข่งมีปัญหามากๆ ถ้าหากว่าการป้องกันของคุณหละหลวม และ "ไม่ครอบคลุม" ไปถึงริมเส้น จะทำให้ผู้เล่นที่ถ่างริมเส้นสามารถเลือกเล่นเพลย์ต่างๆได้ตามใจชอบ ซึ่งจะอันตรายต่อแนวรับของทีมทันที

จังหวะภาพแรกนี้ ฟิล โฟเด้น ได้บอลในพื้นที่ pocket ด้านข้าง ระหว่างแผงหลังเบิร์นลีย์ และแผงมิดฟิลด์ของพวกเขา และแทงบอลต่อออกมาให้ ไคล์ วอล์คเกอร์ ที่ขิงเกมชิดริมเส้น และวิ่งทะลุขึ้นไป manage พื้นที่แนวสุดท้ายใน final third ทันที เขาลากบอลขึ้นหน้าดึงจังหวะเล็กน้อย ก่อนจะคัทแบ็คให้ตัวเล่นตัวต่อไปที่หาตำแหน่งยืนได้สุดยอดเช่นกัน

2. จังหวะถัดมา คือบอลคัทแบ็คของวอล์คเกอร์ ตบกลับมาให้ "ฮูเรียน อัลวาเรซ" ที่วิ่งชะลอมาด้านหลังแนว defensive line ของเบิร์นลีย์(สีม่วงทั้งเส้น) ที่ "พลาด" วิ่งไล่ตาม เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ กันไปทั้งแผง จนอัลวาเรซหลุดว่างในพื้นที่ด้านหน้าไลน์ ตามวงกลมสีฟ้าที่วงไว้ว่า สเปซตรงนั้นกลายเป็นช่องโหว่ของเบิร์นลีย์ขึ้นมาทันที

เนื่องจากแผงหลังของเบิร์นลีย์ถอยตามฮาลันด์ที่สปีดจะขึ้นไปเอาบอลด้านหน้า กองหลังตรงกลางสามตัวของเบิร์นลีย์ตามฮาลันด์ไปคนเดียว ส่วนด้านขวามีลูอิสวิ่งดึงตัวประกบเบิร์นลีย์อีกหนึ่ง ทำให้ ฮูเรียน อัลวาเรซ ว่างโล่ง เกิดเป็นจุดตายขึ้นในกรอบเขตโทษ

ไคล์ วอล์คเกอร์ก็จ่ายตบกลับมาให้เขาที่ยืนว่างอยู่ โดยจังหวะที่อัลวาเรซได้บอล จะเห็นชัดตามภาพที่สองข้างบนนี้เลยว่า Defensive Line ของเบิร์นลีย์หลุดตำแหน่งกันลงไปทั้งไลน์เพื่อปิดพื้นที่หน้ากรอบเขตโทษ แต่พลาดทิ้งระยะกับอัลวาเรซที่จงใจจ็อกตามมาเบาๆ เพื่อหาตำแหน่งว่างให้ตัวเอง และรับบอลจากแบ็คที่เปิดตบกลับมาสำเร็จ

เมื่อได้บอลว่างโดยไม่มีแนวรับคู่แข่งมาประกบในกรอบเขตโทษ ก็สามารถเลือกเล่นได้ตามใจชอบว่าจะยิงเอง หรือจะจ่ายบอลให้เพื่อนที่ตำแหน่งดีกว่า


3. เป็นครั้งที่สองที่แผงหลังเบิร์นลีย์พลาด ไม่ยอม marking เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ให้ดี หลังจากที่ถอยไปเพื่อจะปิดพื้นที่สุดท้ายแล้ว พวกเขาก็ไม่ได้ตามประกบติดตัวฮาลันด์อีกเลย ซึ่งจอมมารบูขยับถอยออกมาจากพื้นที่หน้าประตู แล้วหาตำแหน่งว่างให้ตัวเองเพื่อรอรับบอลจากเพื่อน

และฮาลันด์ก็ได้บอลว่างๆในกรอบเขตโทษจริงๆ หลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่ต้องสืบ

สุดท้ายแล้วเมื่อเงื่อนไขทุกอย่างลงล็อคขนาดนี้ ก็กลายเป็นประตูที่สองของฮาลันด์ในเกมนี้ไป เป็นการยิงที่เด็ดขาดและไม่ปล่อยให้โอกาสที่ได้รับมานั้นยิงทิ้งไปอย่างสิ้นเปลืองเลย

ยอดเยี่ยมมากทั้งคนจ่าย และคนหาตำแหน่งจนยิงจบสกอร์ได้แบบนี้

--------------------------------

เคสที่สอง : ประตู 0-1 จากลูกครอสริมเส้นของเควิน เดอบรอยน์

อีกเคสหนึ่งก็เกิดขึ้นในเกมเดียวกัน ภาพข้างบนนี้เป็นประตูที่ซิตี้นำเบิร์นลีย์ 0-1 จากลูกครอสที่แม่นยำจากริมเส้นของตัวรุก Advance Playmaker อย่าง "เควิน เดอบรอยน์" ที่สามารถถ่างออกไปเล่นริมเส้นได้ด้วยลูกครอสที่โหดระดับ Wide Midfielder เก่งๆเหมือนพวกพี่เบ็คเป๊ะๆ KDB เปิดเกมริมเส้นแบบนี้ได้บ่อยครั้ง และมันย้อยมาเข้าหัวโรดรี้ ที่รอโหม่งอยู่เสาสอง ตั้งย้อนกลับมาให้เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ ยิงเข้าไปตูมเดียวหาย

ประตูนี้ก็เริ่มต้นขึ้นด้วยการเปิดเกมรุกจากริมเส้นเช่นกัน พื้นที่ที่ KDB ถ่างออกไปนั้น แนวรับของเบิร์นลีย์หละหลวมมาก และมันมีจังหวะ มีเวลาให้เปิดค่อนข้างเยอะ จึงเป็นอีกประตูที่เกิดขึ้นมาเพราะเกมรุกริมเส้นของซิตี้เช่นกัน ซึ่งไม่ได้พึ่งพาการเล่นจากปีกหรือแบ็ค แต่มิดฟิลด์ที่มีความยืดหยุ่นก็สามารถถ่างออกมาโจมตีได้เหมือนกัน จุดแข็งนี้ของซิตี้น่ากลัวมาก เพราะทุกตัวสามารถเล่น "ริมเส้น" ได้หมดเลย

ท่านผู้อ่านเริ่มเห็นความสำคัญของเกมริมเส้นแล้วใช่ไหมครับ 


สิ่งที่เราอยากจะบอกก็คือ สิ่งนี้เป็นจุดแข็งที่แมนเชสเตอร์ซิตี้ ไม่เคยปล่อยให้แอเรียด้านข้างลดความแข็งแกร่งลงเลย ยังคงโจมตีด้วยการขึงเกมริมเส้นใส่คู่แข่งอยู่ตลอด ซึ่งมันใช้ได้ผลในการสตาร์ทเกมรุกให้สามารถเล่นต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดชุดนี้ยังคงมีปัญหาเรื่องของการเปิดเกมรุกให้ได้ผลอย่างจริงๆจังๆจากผู้เล่นตำแหน่งริมเส้นอยู่พอสมควร เกมรุกทั้งหมดภาระของแมนยูไปตกอยู่ที่ "บรูโน่ แฟร์นันด์ส" อยู่คนเดียวแทบจะทุกเกม ทีมเรายังมีการปั้นเกมรุกด้านข้างไม่ค่อยดีนัก จะมีก็แค่ผู้เล่นบางคนเท่านั้นที่ทำได้ดี

ยกตัวอย่างผู้เล่นริมเส้นที่สร้างเกมได้ดี เช่น อเลฮันโดร การ์นาโช่ ในช่วงนี้เมื่อน้องได้บอลทางฝั่งซ้ายด้านข้างแล้ว ก็สามารถพาบอลโจมตีใส่คู่แข่งได้อันตรายแทบทุกจังหวะ ตรงนี้ถือว่าทำได้ดีแล้ว ขณะที่ลุค ชอว์ ถ้าได้เติมเกมก็ยังอันตรายเหมือนเดิม แล้วแต่จังหวะและแทคติกของสถานการณ์ในสนามด้วย

ถ้าเกมภาพรวมไม่ดี ชอว์จะมีโอกาสเติมน้อย ซึ่งทีมต้องครองบอลเซ็ตบอลให้เหนือกว่า ชอว์จึงจะมีโอกาสได้ครอสบอลหรือเติมมาในพื้นที่สุดท้ายบ้าง ซึ่งจุดแข็งริมเส้นตรงนี้ดูเหมือนว่าจะหายไปอยู่พอควร ถ้าเทียบกับตอนที่ ชอว์ คอมโบกับ แรชฟอร์ด ตอนที่โอเล่ทำทีมช่วงพีคๆ ตอนนั้นคือการเล่นริมเส้นที่อันตรายมากๆของทั้งคู่ ดูเหมือนว่าซีซั่นที่แล้วสิ่งนี้ขาดหายไปอยู่บ้าง


ส่วนทางฝั่งขวา เกมรุกริมเส้นค่อนข้างที่จะตื้อตัน และสร้างสรรค์โอกาสในเกมรุกได้ยังไม่ดีพอ ส่วนตัว ศาลาผี ไม่ได้อยากจะเขียนบทความนี้มาเพื่อจะโจมตี Antony, Dalot หรือ Wan-Bissaka แต่อย่างใด เพียงแค่ว่าเราต้องยอมรับว่ามันไม่ดีพอจริงๆ และเราเป็นกำลังใจอยากจะให้ผู้เล่นฝั่งขวาของทีมทำผลงานกันได้ดีกว่านี้ทั้งสามคน

เกมฝั่งขวาของปีศาจแดงยังขาดการเล่นร่วมกัน ขาด combination ที่ดีของการเล่นในสนาม ปีกยังไม่ค่อยสามารถสร้างเกมรุกคู่กันกับแบ็คได้มากเท่าไหร่นัก ต่างคนต่างใช้ความสามารถเฉพาะตัวกันเองค่อนข้างเยอะ มันขาดทีมเวิร์คในจุดนี้อยู่

ยกตัวอย่างสถานการณ์ง่ายๆ เราจะได้เห็น Antony พยายามลากตัดเข้าในด้วยตัวเอง เพื่อเปิดต่อให้ตัวเล่นตรงกลางอย่างบรูโน่ แรชฟอร์ด ซานโช่ แต่เราแทบจะไม่เห็นเขาเปิดบอลให้แบ็คที่เติมมาเลย ไม่ว่าจะ AWB หรือ Dalot

ข้อนี้ต้องพัฒนาการเล่นร่วมกันระหว่างพวกเขาทั้งสามคนให้ดีกว่านี้


เพราะถ้าเทียบจังหวะลูกนี้ของซิตี้ การทำเกมของวอล์คเกอร์จากริมเส้น มันทำให้เห็นภาพชัดเลยว่า นี่คือจุดที่แมนยูไนเต็ดยังไม่มีแบบเขา มิติเกมริมเส้นของเราแทบไม่มีเลย ทั้งๆที่เป็นจุดสำคัญที่จะสามารถใช้งานโจมตีคู่แข่งได้ดีมาก เพราะนั่นคือพื้นที่ที่สามารถใช้โจมตีได้

บริเวณริมเส้น แม้พื้นที่การเล่นจะแคบกว่าบริเวณกลางสนาม แต่ยังไงก็ตาม แนวป้องกันมักจะไม่แน่นเท่ากับตรงกลาง ผู้เล่นตัวป้องกันริมเส้นจะมีแค่แบ็ค กับ ปีกที่ถอยลงมาช่วยเท่านั้น หากจัดการผู้เล่น 1-2 คนนี้ได้ เกมจะเปิดทันที ถ้าเจาะดีๆ มีโอกาสที่จะสร้าง sequence จังหวะเกมบุกในช็อตต่อๆไปได้อีกเยอะ และหลากหลาย

ยกตัวอย่างเช่น ที่วอล์คเกอร์หลุดขึ้นมาในจังหวะนี้ จริงๆแล้วเขาสามารถทำอย่างอื่นก็ได้ที่ไม่ใช่การคัทแบ็คมาให้กับอัลวาเรซ การโจมตีมันเปิดกว้างจริงๆ ลองคิดตามดูแล้วจะพบว่า sequence เกมรุกที่วอล์คเกอร์จะเล่น สามารถสร้างได้หลากหลายเลย

นอกจากจะจ่ายให้อัลวาเรซในช็อตนี้ ไคล์ วอล์คเกอร์ยังสามารถ..

1. ลองจ่ายยัดให้ฮาลันด์โดยตรงก็สามารถลองได้

2. หรือจะเปิด float cross ลอยโด่งข้ามมาเสาสองให้ริโก้ ลูอิส ก็ทำได้เช่นกัน

นี่คือผลที่ตามมาจากการเจาะเกมริมเส้นคู่แข่งสำเร็จ โอกาสมันจะเปิดกว้างมากๆในทุกการเล่นไม่ว่าจะกับทีมใดก็ตาม เป็นสิ่งที่แมนยูไนเต็ด จะต้องมองจุดแข็งตรงนี้ในการเล่นเกมรุกของแมนเชสเตอร์ซิตี้เอาไว้เป็นตัวอย่าง และพัฒนามันให้ได้ในอนาคต ถ้ามีเกมริมเส้นที่ดีขึ้น ทีมจะสามารถผลิตสกอร์ได้มากกว่านี้แน่นอน ซึ่งปีที่ผ่านมาก็ยังถือว่าแมนยูยิงคู่แข่งได้ค่อนข้างน้อยมาก สังเกตได้จากลูกได้เสียของทีมที่น้อยสุดในบรรดาทีมหัวๆตารางเลย นอกจากจะเสียประตูเยอะแล้ว เราก็ยังยิงคู่แข่งได้น้อยอีกด้วย

ไม่ว่าปีก่อนเราจะจบอันดับที่เท่าไหร่ แต่เรื่องนี้คือ "จุดอ่อน" ที่ต้องพัฒนาเกมรุกอีกเยอะ เรายังยิงได้น้อยไปจริงๆ

การชนะแค่ 1-0 หรือ 2-0 อาจจะยังไม่พอสำหรับการจะขึ้นไปสู่ท็อปทีมที่ได้ลุ้นแชมป์ เพราะถ้าเกมรุกคุณยิงคู่แข่งไม่ขาด มันก็มีโอกาสที่จะพลาดโดนตีเสมอบ่อยๆ เหมือนปีที่แล้วที่เราเป็นมานั่นแหละ ยังไม่รวมการโดนพิษกรรมการบ่อยๆที่อาจเปลี่ยนผลให้มันเสียหายได้

เกมรุกของเราจะต้องทำให้ดุดัน เด็ดขาด และผลิตสกอร์กันให้ได้มากกว่านี้ ทีมถึงจะไปได้ไกลกว่าเดิม และเกมรุกริมเส้นคืออีกจุดหนึ่งที่เราต้องพัฒนาเพื่อเป็นองค์ประกอบของเกมรุกที่ดีในทีม ซึ่งถ้าสักวันเกมรุกริมเส้นของแมนยูดีขึ้น ทุกอย่างจะลงตัว และจะแข็งแกร่งมากกว่าในตอนนี้แน่นอน เป็นกำลังใจให้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดกันต่อ เชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้นเรื่อยๆภายใต้การทำทีมของเอริค เทน ฮาก ครับ

ดูพวกเขาเป็นตัวอย่างไว้ แล้วปรับปรุงทีมกันต่อไป

#BELIEVE

-ศาลาผี-


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด