:::     :::

เหตุผลที่แมนยูไม่เลือกคูคูเรย่า และปัญหาของเขากับเชลซี

วันศุกร์ที่ 01 กันยายน 2566 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
2,996
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
นี่คือบทความ Player Analysis ที่วิเคราะห์การเล่นของ Marc Cucurella ให้เห็นว่าปัจจุบันมีความแตกต่างกับสมัยตอนฟอร์มพีคกับไบรท์ตันยังไง ข้อดีข้อเสีย และเหตุผลเบนเป้าไปหา เรกีลอน แทน

เมื่อมีการขาดหายไปของนักเตะระดับตัวหลักอย่าง ลุค ชอว์ สโมสรจึงต้องพยายามนำเข้าแบ็คซ้ายในระดับที่ "ใช้งานได้จริง" กลับเข้ามาเพื่อทดแทนการหายไปของชอว์ ในการรักษา Squad Depth ให้ทีมมีแบ็คซ้ายชั่วคราวใช้งานไปก่อนในช่วงครึ่งฤดูกาลนี้ ซึ่งรายชื่อตามข่าวที่เกิดขึ้นมีนักเตะหลายคนที่มาพัวพันด้วย ไม่ว่าจะเป็น คูคูเรย่า, ไรอัน เบอร์ทราน ตัวฟรีวัยดึกที่เพิ่งหมดสัญญากับเลสเตอร์, มาร์กอส อลอนโซ่, เซร์คิโอ เรกีลอน และ เลโอนาร์โด สปินาซโซลา

และสุดท้าย แมนยูไนเต็ดก็เลี้ยวรถมาจบที่ดีลยืมตัว "เซร์คิโอ เรกีลอน" แบ็คซ้ายกระทิงดุวัย 26 ปี ของทีมท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ ที่หลุดจากตำแหน่งตัวจริงแล้ว ยืมตัวมาชั่วคราวให้กับแมนยูไนเต็ด โดยมีเงื่อนไขที่สามารถส่งตัวกลับ(ยกเลิกยืม) ในช่วงเดือนมกราคมได้ โดยดีลนี้แมนยูจ่ายแต่ค่าเหนื่อยเต็มจำนวน 48kต่อสัปดาห์ ไม่มีค่ายืม

ขณะที่ทางฝั่งดีลของ มาร์ค คูคูเรย่า ที่เราเขียนกันในบทความนี้นั้น เชลซีเรียกค่ายืมสูงถึง 7 ล้านปอนด์ ซึ่งหนักมากสำหรับดีลยืมตัวนักเตะคนหนึ่ง แถมช่วงกลางสัปดาห์เชลซีก็เล่นส่งคูคูเรย่า ลงในคาราบาวคัพรอบสองที่ลงสนามเจอกับวิมเบิลดันด้วย ทำให้ดีลยืมตัวคูคูเรย่ามีความซับซ้อน และมีข้อติดขัดค่อนข้างเยอะ ในเรื่องของรายละเอียดการยืมตัวเป็นหลัก ทำให้แมนยูไนเต็ดหันไปหาออฟชั่นที่ดีลได้สะดวก และฝีเท้าใช้การได้ใกล้เคียงกัน อย่างเรกีลอนมาแทน

ดีลของคูคูเรย่าจึงจบลงด้วยประการฉะนี้

แต่ในเมื่อปูหัวเรื่องมาแบบนี้แล้ว เราก็อยากจะรู้เหมือนกันว่า นักเตะฝีเท้าดีอย่างคูคูเรย่า ตอนที่อยู่สมัยไบรท์ตัน มันเกิดอะไรขึ้นกับเขาเมื่อย้ายมาอยู่เชลซี บทความนี้จึงอยากจะเขียนวิเคราะห์ดูว่า จุดเด่นของเขาจริงๆสามารถใช้งานยังไงได้บ้าง และอะไรคือปัจจัยที่ทำให้คูคูฟอร์มตกถึงขนาดนี้

ณ แสตมฟอร์ดบริดจ์ มาร์ค คูคูเรย่าเสียตำแหน่งไปให้กับเบน ชิลเวลล์ ไปแล้วโดยสิ้นเชิงในตำแหน่งวิงแบ็คซ้ายของเชลซี บนระบบการเล่น 3-4-2-1 ภายใต้ยุคของพอช 

เรื่องฟอร์มของคูคูเรย่าที่ดรอปลงไปในปีที่ผ่านมา ปัจจัยส่วนหนึ่งเกิดจากเชลซีเองด้วยที่ทีมมีปัญหา การเล่นไม่ลงตัวทั้งด้านสมดุล สภาพความมั่นใจ ฯลฯ ในปีที่ผ่านมา ทำให้การวิเคราะห์ความสามารถที่แท้จริงของนักเตะ จึงไม่ควรที่จะนำฟอร์มตอนอยู่เชลซีมาดูแค่อย่างเดียว ต้องย้อนไปดูคุณสมบัติเด่นๆของเขาตอนที่ยังฟอร์มดีอยู่กับทีมนกนางนวล "ไบรท์ตัน" ด้วยว่าเป็นยังไงบ้าง

บทความนี้น่าจะทำให้เห็นว่า ตอนที่แบ็คหัวฟูรายนี้ฟอร์มดีกับไบรท์ตัน เขามีจุดเด่นเรื่องไหน ข้อใดคือสิ่งที่น่าจะนำมาใช้งานให้แมนยูได้บ้าง นี่คือข้อสังเกตต่างๆที่น่าสนใจ ในเนื้อหาบทความที่เป็น Player Analysis บทความนี้ครับ

1. ข้อมูลทั่วไป

Marc Cucurella

อายุ : 25 ปี / ส่วนสูง 173 cm

สัญชาติ : สเปน

เท้าที่ถนัด : ซ้าย

ต้นสังกัด : เชลซี

ตำแหน่งหลัก : Left Back / Left Wing-back

ตำแหน่งอื่นที่เล่นได้ : Left Centre-back (เซ็นเตอร์แบ็คตัวข้างฝั่งซ้าย)

2. ตำแหน่งถนัดและบทบาทการเล่น

ค่อนข้างชัดเจนว่า คูคูเรย่าโด่งดังขึ้นมาจากการเป็นตัวจริงของไบรท์ตันเมื่อสองฤดูกาลก่อน ในซีซั่น 2021/22 ซึ่งในด้านตำแหน่งการเล่นหลักของเขา ก็ยังคงเป็น "วิงแบ็คซ้าย" เป็นหลัก ทั้งตอนอยู่ไบรท์ตัน และตอนอยู่เชลซี สัดส่วนของแบ็คซ้ายจะเยอะกว่า แต่ก็มีโอกาสที่ต้องลงเล่นเป็น "เซ็นเตอร์ตัวข้าง" ให้ทั้งไบรท์ตัน และ เชลซี ค่อนข้างเยอะด้วยเช่นกัน

บทบาทการเล่นของคูคูเรย่า สามารถแยกออกเป็นสามรูปแบบหลักที่เราเห็นจากเขาในสนามดังนี้

2.1 "Complete Wing-back"

คูคูเรย่าสามารถวิงแบ็คจอมบุกเต็มตัวได้โดดเด่นที่สุด และเขาจะได้เล่น role นี้เวลาที่ลงสนามเป็น "วิงแบ็คซ้ายในระบบหลังสาม" คูคูเราย่าจะเล่นเป็นวิงแบ็คตัวบุกอย่างเต็มรูปแบบ ใน formation 3-4-2-1 ใน position การยืนเป็น Left Wing-back ยืนอยู่ในระนาบเดียวกับแผงมิดฟิลด์ตรงกลาง ตำแหน่งนี้คูคูเรย่าจะรุกเต็มสูบในฐานะวิงแบ็คจอมบุก (Attack)

2.2 "Full-back" (Attack)

คูคูเรย่าเวลาลงเล่นตำแหน่งแบ็คซ้าย (LB) ในระบบ "แบ็คโฟร์" เขาจะมีความเป็นฟูลแบ็คจอมบุกอยู่ในตัว มีความสามารถในเกมรับ แต่ก็ทำเกมบุกด้วยตามธรรมชาติการเล่น 

ถ้าได้คูคูเรย่าเข้ามา เกมรุกใน final third ของพื้นที่ริมเส้นจากตำแหน่งแบ็ค จะเด่นขึ้นมาพอๆกันทั้งสองด้าน หรืออาจจะเด่นกว่าด้านขวาไปเลยก็ได้ ถ้าคูคูเรย่าเรียกฟอร์มโหดสมัยไบรท์ตันได้

2.3 Inverted Full-back (Support) แบ็คหุบเข้าในแบบซัพพอร์ท

นอกจากการเล่นแบ็คตัวบุกแบบข้อ 2.2 แล้ว คูคูเรย่ามีออฟชั่นการเล่นในแอเรียหุบเข้ากลางได้ดี เขาจึงสามารถเป็น Inverted Full-back หุบเข้าในเพื่อเป็นฐานในการเซ็ตบอลร่วมกันกับมิดฟิลด์ตัวต่ำเดี่ยวได้

ยกตัวอย่างเล่นๆ สมมติว่าถ้าดีลเรกีลอนไม่เกิด และแมนยูได้ตัวคูคูเรย่ามาจริงๆ เราอาจจะเซ็ตการยืนของคูคูเรย่าเป็นตัว Inverted หุบเข้ามาช่วยคาเซมิโร่ ในการสร้างฐาน 3-2 ขณะที่เป็นฝ่ายครองบอล (Phase 1 : With ball) ตามแบบรูปข้างล่างนี้

ถ้าให้เขาเล่นเป็นวิงแบ็คตัวหุบเข้าใน มันก็อาจจะกลายเป็นระบบที่เซ็ต 3-2 เหมือนที่ซิตี้ กับอาร์เซนอล ทำ ก็คือ ขณะครองบอลมีฐานล่างสุดเป็นกองหลังสาม และพื้นที่ถัดมา คือกองหลังหนึ่งตัวที่ดันสูงขึ้นมายืนคู่กับมิดฟิลด์ตัวรับ / ซิตี้ปีก่อนคือ โรดรี้+สโตนส์ / อาร์เซนอลปีนี้คือ ปาร์เตย์ที่เล่นเป็นกึ่งแบ็ค ดันสูงคู่ไรซ์ แต่เวลาเล่นเกมรับถอยไปเป็นแบ็คขวาเป็นต้น

การหุบเขาในและคุมพื้นที่โซนด้านหลังฝั่งซ้าย เป็นวิธีการเล่นที่เขามอบให้กับทีมต้นสังกัดได้ ซึ่งก็ช่วยเหลือการเล่นในด้านเป็นฐานที่เหนียวแน่นให้ทีม เกมรับ เกมครองบอลจะดี

แต่สิ่งที่จะต้อง "แลก" เวลาใช้คูคูเล่นหุบเข้าในคือ เกมรุกจะหายไปเยอะ

การใช้คูคูเรย่าเล่นเป็นตัว Inverted หุบเข้าในคือ "เกมรุก" จะไม่มีทันที เพราะเขาจะสวิตช์ duty ในการเล่นของตัวเอง จาก Attack ที่เติมรุกขึ้นหน้า กลายเป็นสาย Support แทน จะไม่ได้เติมขึ้นหน้าบุกอย่างเดียวแล้วถ้าให้เล่นเป็นแบ็คตัว Inverted

รูปแบบนี้จะใช้หรือไม่ใช้ก็ต้องเลือกเอา หุบเข้าในช่วยกลางได้ แต่เกมรุกหาย หรือจะให้เล่นบุกแบบหมดหน้าตักไปเลยเหมือนข้อ 2.2

2.4 Full-back (Support) ไม่เติมเกมสูง

เรื่องการให้เล่นแบ็คหุบใน กับการให้เล่นแบ็คแบบ Support ในข้อนี้และข้อที่แล้ว มีความคล้ายคลึงกันอยู่ในแง่ที่ว่า มันเป็นการเล่นซัพพอร์ททีมแบบฟูลแบ็คยืนต่ำ ไม่เน้นเติมเหมือนกัน

รวมถึงในกรณีที่จะใช้คูคูเรย่าเป็นตัวเซ็ตเกมแดนหลัง เป็นฐานสามคนด้านหลัง (แบ็คซ้าย-เซ็นเตอร์-เซ็นเตอร์) คล้ายๆกับตอน ลุค ชอว์ เล่นแบ็คซ้ายของแมนยูแบบเซ็ตเกมอยู่หลังบ้านร่วมกับมาร์ติเนซ วารานนั่นแหละครับ สามารถใช้คูคูเรย่าแบบนี้ได้ เพราะปกติพี่แกก็เล่น เซ็นเตอร์ตัวซ้าย ตอนอยู่ไบรท์ตันอยู่แล้ว

การให้ยืนดรอปต่ำในลักษณะนี้ ซึ่งมันก็จะสอดคล้องกับสิ่งที่เป็นตำแหน่งถนัดพอดีของคูคูเรย่า ที่เล่นระบบ "หลังสาม" จริงๆ ในข้อถัดไป ถ้าเราจะพูดว่า ให้คูคูเรย่าเล่นฟูลแบ็คแบบซัพพอร์ท ตำแหน่งเขาก็เหมือนกับการเล่น เซ็นเตอร์ตัวข้างซ้าย มากๆ ตามรูปแบบในข้อ 2.5 ข้างล่างนี้

2.5 Ball-playing Defender เซ็นเตอร์ตัวทำเกม

การเล่นเป็นเซ็นเตอร์แบ็คตัวข้างของคูคูเรย่าในระบบ "หลังสาม" ก็สามารถทำได้

คูคูเรย่าที่มีความคล่องตัวอยู่แล้วก็จะสามารถนำพื้นฐานคุณสมบัตินี้มาเป็นตัวเล่นตั้งเกม ออกบอล และขับเคลื่อนบอลขึ้นหน้าให้กับทีมในฐานะเซ็นเตอร์ตัวที่สร้าง ball progression ให้กับทีมได้ลำเลียงบอลขึ้นหน้าให้เร็วที่สุด

ปีตอนอยู่ไบรท์ตันที่มาเจอแมนยูช่วงท้าย และกดแมนยูไป 4-0 วันนั้นเขายิงได้ด้วย และลงเล่นในฐานะเซ็นเตอร์แบ็คตัวข้างซ้ายซะด้วยซ้ำ แต่ในบทบาทการเล่นนี้ อาจจะไม่ได้เห็นกับแมนยูไนเต็ด เนื่องจากว่าสโมสรไม่ได้เล่นในระบบหลังสาม

และที่สำคัญตำแหน่ง LCB ตัวตั้งเกม เซ็ตเกม แมนยูใช้ "ลิซานโดร มาร์ติเนซ" เล่นเป็นหลักอยู่แล้วด้วย พื้นที่การเล่นมันซ้ำกับ Licha อยู่พอสมควร ทำให้เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่แมนยูไนเต็ดอาจจะไม่ได้พิจารณาคูคูเรย่าด้วยเหตุผลนี้ และไปเลือกเรกีลอนที่ยืมง่ายกว่าแทน

สรุปในภาคการใช้งาน คูคูเรย่าสามารถเล่นได้ถึง "ห้ารูปแบบ" ในการยืน วิงซ้าย, แบ็คซ้าย, เซ็นเตอร์ฝั่งซ้าย ตามที่เขียนมาข้างบนนี้ แต่ถ้าจะเน้นเอาแบบให้คูคูเรย่าฟอร์มปังที่สุดจริงๆ ยังไงก็ต้องให้เขา "เล่นเกมรุก" เต็มตัวเท่านั้น ตามข้อ 2.2 พร้อมด้วยเหตุผลที่ซัพพอร์ทสมมติฐานนี้อีกอย่างหนึ่ง อยู่ในหัวข้อถัดไป ตามภาพข้างล่างนี้

3. พื้นที่การเล่นสมัยฟอร์มดีอยู่ไบรท์ตัน เทียบกับตอนอยู่กับเชลซีต่างกันมากจนเป็นเหตุให้ฟอร์มดรอป

ดูจาก heatmap นี้ของคูคูเรย่า ในปี 2021/22 หรือก็คือตอนฟอร์มพีคกับไบรท์ตัน ก่อนที่จะย้ายไปอยู่เชลซีนั่นเอง ซึ่ง heatmap นี้ของเขามาจากการเล่นซีกซ้ายร่วมกับนักเตะอย่าง ทรอสซาร์ และ กรอส ในบริเวณนั้น (คาโอรุ มิโตมะ ยังไม่ได้ย้ายมาไบรท์ตันเลยในปีนี้)

พื้นที่การเล่นของคูคูเรย่าตอนฟอร์มพีคคือดันเกมสูงมากจริงๆ และรับผิดชอบพื้นที่ริมเส้น และพื้นที่ที่หุบเข้าในมาเล็กน้อยในบริเวณ Half-space ในสนาม ไม่แปลกว่าเขาเล่นได้ทั้งตัวริมเส้น และพื้นที่ตรงกลาง แต่ให้เปรียบเทียบดูกับ heatmap ตอนสมัยอยู่เชลซี (ภาพล่าง) จะเห็นชัดๆเลยว่า พื้นที่การเล่นของเขายืนต่ำกว่าเดิม เล่นในพื้นที่ต่ำเสียเป็นส่วนใหญ่ 

เทียบกับตอนอยู่ไบรท์ตันจะชัด พื้นที่การเล่นเยื้องมาแดนบนค่อนข้างเยอะกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ดังนั้นในเรื่องวิธีการใช้งาน และพื้นที่การเล่นที่เขาถนัด ยังไงการให้ "คูคูเรย่าเติมเกมสูง" เล่นเกมรุกเต็มตัว จะถูกจุดกว่าตอนที่ได้รับมอบหมายหน้าที่สมัยอยู่เชลซี ที่เล่นต่ำลงกว่าเดิม ฟอร์มที่มีก็เลยเป็นอย่างที่เห็น

4. การเป็นฟูลแบ็คตัวขับเคลื่อนเกมขึ้นหน้า (Progressive Full-back) สมัยอยู่ไบรท์ตัน

ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องของ Role การเล่นเหมือนในข้อ 2 แต่มันเป็น "จุดเด่นเรื่องการเล่น" ของคูคูเรย่าสมัยยังอยู่กับไบรท์ตัน จุดเด่นเรื่องหนึ่งของเขาที่เห็นชัดมากที่สุดตลอดมา คือเรื่องของการสร้าง Ball Progression ที่สูงมากๆให้กับทีม

เขาถึงได้ขนานนานว่าเป็น Progressive Full Back นั่นเอง ตามสถิติการเล่นสมัยอยู่ไบรท์ตัน เมื่อเทียบกับนักเตะภายในทีมเดียวกัน คูคูเรย่ามีสถิติดังนี้

ระยะทางในการพาบอลขึ้นหน้า (Progressive distance carried) รวม 4085 หลา : อันดับหนึ่งของทีม 

เล่นบอลด้วยตัวเอง (carries) 1431 ครั้ง : อันดับหนึ่งของทีม 

จ่ายขึ้นหน้า (Progressive passes) 191 ครั้ง : อันดับหนึ่งของทีม 

เจ้าบอลเข้า Final Third 158 ครั้ง : อันดับหนึ่งของทีม 

พาบอลขึ้นหน้า (Progressive carries) 104 ครั้ง : อันดับหนึ่งของทีม 

พาบอลเข้า Final Third 64 ครั้ง : อันดับหนึ่งของทีม 

แทคเกิลชนะ 64 ครั้ง : อันดับหนึ่งของทีม 

จ่ายบอลเข้ากรอบเขตโทษ 53 ครั้ง : อันดับหนึ่งของทีม 

เข้าแทคเกิลคู่แข่งที่เลี้ยงบอลได้สำเร็จ 44 ครั้ง : อันดับหนึ่งของทีม 

ครอสบอลเข้ากรอบ 17 ครั้ง : อันดับหนึ่งของทีม 

รับบอลที่จ่ายขึ้นหน้าสำเร็จ 208 ครั้ง : อันดับสองของทีม 

ปริมาณแทคเกิล + ตัดบอล รวม 123 ครั้ง : อันดับสองของทีม 

ดูสถิติตรงนี้ก็จะเห็นจุดเด่นสมัยไบรท์ตันได้ชัดเลยว่า เขาเป็นกองหลังที่ทำเกมขึ้นหน้าเยอะขนาดไหน เป็นตัวเล่นหลักของไบรท์ตันในตอนนั้นเลย ดังนั้นในประเด็นที่แมนยูไนเต็ดเล่นกันไม่ดีอยู่ในตอนนี้ และขาดฐานการครองบอล การตั้งเกมขึ้นหน้า การดึงคูคูเรย่าเข้ามาอาจจะช่วยในเรื่องการสร้าง Ball Progression ให้ทีมได้ดี

แต่พอย้ายมาอยู่เชลซี เรื่องการสร้าง Ball Progression ในรูปแบบเหล่านี้กลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งจากการเล่นที่มักจะส่งคืนหลัง ไม่ได้เปิดเกมขึ้นหน้าเยอะเหมือนเมื่อก่อน กลายเป็นบอลย้อนหลังแทนซะเป็นส่วนใหญ่ ที่เดี๋ยวเราจะอธิบายในข้อต่อไป

แถมการประสานงานกับเพื่อนร่วมทีมที่ไม่ดีเหมือนสมัยคุมเกมฝั่งซ้ายร่วมกับทรอสซาร์ สมัยอยู่ด้วยกันที่ไบรท์ตัน จุดเด่นเรื่องการเป็น Progressive Full-Back จึงหายไปอย่างสิ้นเชิง

5. "จ่ายย้อนหลัง" พื้นที่การเล่น, ทิศทางการออกบอลหลัก ที่ผิดจากเดิมสมัยเล่นให้ไบรท์ตัน

ภาพข้างบนนี้คือ Pass Sonar สมัยยังอยู่กับไบรท์ตัน สังเกตเรื่องของการจ่ายบอลขึ้นหน้า ทำเกมในแดนสูงของคูคูเรย่าได้จากภาพข้างบนนี้เลย ที่เป็น Pass Sonar ที่แสดงให้เห็นถึง ทิศทางและระยะทางในการจ่ายบอลของนักเตะ ในมุมต่างๆรอบตัว 360องศาว่า จ่ายบอลไปทิศไหนบ่อยๆ และจากภาพนี้ สียิ่งเขียวเข้มแปลว่า "xT" ยิ่งสูง (Expected Threat ค่าการสร้างเกมรุกใส่คู่แข่ง) ยิ่งสูง

ดูการจ่ายบอลจากทิศทางของ Pass Sonar จะเห็นได้ชัดว่า "การจ่ายขึ้นหน้าเยื้องขวาเข้าใน" เป็นการจ่ายบอลธรรมชาติของคูคูเรย่า ที่เป็นมุมซึ่งสร้าง xT ในการเล่นมากที่สุด แปลว่าทำเกมรุกได้ดีที่สุดนั่นเอง

เมื่อนำไปดูประกอบกับภาพมุมล่างขวา ที่เป็นพื้นที่เริ่มจ่ายบอลของคูคูเรย่า ส่วนใหญ่เกมรุกของเขาจะทำได้ดีมากๆเวลาจ่ายบอลในพื้นที่แดนบนตั้งแต่ครึ่งสนามขึ้นไปทั้งสิ้น (ช่องสี่เหลี่ยมสีเขียวเข้มทั้งหมด)

แต่ Progressive Passes ของคูคูเรย่าสมัยอยู่เชลซี มีปริมาณ และ อัตราสำเร็จน้อยมาก ตามภาพข้างล่างนี้ ให้ดูอัตราส่วนของเส้นจ่ายบอลที่เป็นสีน้ำเงิน นั่นคือ Progressive Passes ที่ไม่สำเร็จ และสีฟ้า คือ Progessive Passes ที่จ่ายสำเร็จ อัตราส่วนครึ่งต่อครึ่ง นั่นคือจุดแรกที่เราจะชี้ให้เห็นว่าเขาจ่ายบอลขึ้นหน้าน้อยลงมากถ้าเทียบกับสมัยไบรท์ตัน หายไปประมาณครึ่งต่อครึ่งเลย (จาก 191 เหลือ 97ครั้ง) 

แต่ที่น่าตกใจกว่าคือ ลูกจ่ายอื่นๆที่ไม่ใช่การจ่ายขึ้นหน้า เส้นสีชมพูแสดงให้เห็นถึง direction ของการจ่ายบอลคูคูเรย่า สมัยอยู่กับเชลซี ดูทิศทางของมันคือการจ่ายย้อนหลังเข้าในให้กับเซ็นเตอร์แบ็คล้วนๆ เส้นสีชมพูเป็นตัวบ่งบอกถึงวิถีของการเล่นสมัยอยู่เชลซีเลยว่า เขาไม่ได้เติมขึ้นหน้า เขาไม่สร้างสรรค์บอลเกมบุกให้กับเชลซีเลย มีแต่การเพลย์เซฟที่เป็น Square Passes ล้วนๆ 

นี่จึงเป็นอีกสาเหตุที่สังเกตได้ชัดว่า ทำไมมันช่างต่างกันกับตอนเป็น Progressive Full-Back สมัยอยู่ไบรท์ตันแบบนี้

6. พื้นที่เกมรับของคูคูเรย่าตามธรรมชาติ

ส่วนพื้นที่การเล่นเกมรับ และจังหวะการเข้าดวลกับคู่แข่ง ทั้งช็อต 50/50, ดวลลูกกลางอากาศ และจังหวะดวลป้องกันบนภาคพื้นดิน การเล่นที่เป็น Duels ในรูปแบบต่างๆของเขามีเรนจ์การเล่นในพื้นที่ที่กว้างมาก ทั้งการดวลในพื้นที่ริมเส้น และขยับเข้ามาดวลกับคู่แข่งกลางสนามได้ด้วยเช่นกันจากรูปนี้ที่เห็นได้ชัด

มันเป็นตัวบ่งบอกพื้นที่การเล่น และจุดเด่นความสามารถของเขาได้ดี ค่าเฉลี่ยเกมรับของเขา ในภาคการตัดเกม เฉลี่ยตัดบอลสำเร็จที่ 4.62 ครั้งต่อเกม, สร้าง ball recoveries ให้ทีม เฉลี่ย 9.4 ครั้งต่อเกม ซึ่ง 3.36 ครั้งจากในนั้น เกิดขึ้นใน "แดนบน" (Opposition's Half) ซะด้วยซ้ำ

คูคูเรย่าจริงๆเล่นได้ทั้งเกมรุกและเกมรับ เฉลี่ยเข้าสู้กับคู่แข่งในจังหวะป้องกันมีทั้งสิ้น 7.79 ครั้งต่อเกม, ดวลลูกกลางอากาศ 1.96 ครั้ง และเข้าแย่งบอลตาย 3.2 ครั้งต่อเกม ซึ่งคูคูเรย่าดวลชนะ 23.45% ในจังหวะดวลเกมรับ, ชนะ 53.42%ในการดวลลูกกลางอากาศ และ 51.26 % สำหรับการดวลกับคู่แข่งในจังหวะ loose ball

ส่วนสถิติด้านอื่นๆ คูคูเรย่าเลี้ยงบอลเฉลี่ย 1.96 ครั้งต่อเกมด้วยอัตราสำเร็จ 66.67%, สัมผัสบอลในกรอบเขตโทษคู่แข่ง 1.47 ครั้งต่อเกม, ค่าการจ่ายบอลสำเร็จเฉลี่ยอยู่ที่ 80-82.67% เป็น Forward Passes 16.7, จ่ายบอลเข้า final third 5.53 ครั้ง และครอสต่อเกมสูงถึง 3.22 ครั้งการครอสต่อหนึ่งนัด

พูดง่ายๆคือ เกมรับของคูคูเรย่า จะโดดเด่นถ้าได้ดันสูงขึ้นมาในแดนบน มันตลกร้ายตรงที่ว่า ถ้าบังเอิญ คูคูเรย่า ได้มาอยู่ที่แมนยูไนเต็ด มิติการเล่นแดนบนของเค้า ทั้งเกมบุก ที่อาจใช้แบบเป็นตัวโอเวอร์โหลดฝั่งซ้าย (คล้ายๆกับAWBด้านขวา) มันอาจจะเด่นและเข้าแก๊ปก็ได้ ในขณะที่ภาคการเพรสซิ่ง เล่นเกมรับ เล่น Counter-Pressing ก็อาจจะใช้คูคูเรย่าเล่นในวิธีการแบบนั้นได้ด้วย

6. Conclusion

สรุปในการวิเคราะห์ครั้งนี้ มันก็น่าคิดอยู่เหมือนกันว่า ถ้าคูคูเรย่าได้มาแมนยูจริงๆ บางส่วนของเขาที่เป็นจุดเด่นสมัยไบรท์ตัน น่าจะนำมาแมตช์กับแมนยูได้ ทั้งเกมรุกที่โดดเด่นเวลาได้เล่นรุกแบบเต็มตัว  บวกกับพื้นที่การเล่นที่ทำได้ดีมากกว่าถ้าได้ออกจากพื้นที่แดนหลังเติมสูงขึ้นมาเยอะๆ 

ภาพรวมถือว่าคูคูเรย่าเป็นแบ็คที่มีความยืดหยุ่นสูง เล่นได้หลายพื้นที่ ทั้งริมเส้นและหุบเข้าใน ไม่ว่าจะเล่นเป็นฟูลแบ็คสายบุก ดันเกมขึ้นหน้าแบบเต็มตัว หรือจะเล่นในฐานะตัวกลางจริงๆแบบเซ็นเตอร์ตัวซ้ายในระบบหลังสาม / เล่นเป็นวิงแบ็คหุบเข้าในแบบตัว Inverted FB ทำได้หมด

นักเตะที่มีความหลากหลาย มีความอเนกประสงค์ในการเล่นแบบนี้ เหมาะมากสำหรับฟุตบอลสมัยใหม่ ถ้ามาแมนยูเขาอาจจะทำให้เกมเพรสซิ่งด้วยพลังงานในแดนบนน่าจะดีขึ้น แต่มันก็ไม่เกิดขึ้นแล้ว เราไปเอาใจช่วยเรกีลอนกันดีกว่าสำหรับแฟนผี

ส่วนเรื่องปัญหาของฟอร์มคูคูเรย่านั้น คงเป็นการยากที่คูคูเรย่าจะกลับมายึดตำแหน่งที่เชลซีได้ เพราะรูปแบบการเล่นของเขาเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนถ้าเทียบกับสมัยอยู่ไบรท์ตัน การได้เล่นเกมรุกน้อยลง และปัญหาเรื่องทีมเวิร์คกับเพื่อน ที่แฟนเชลซีคงจะเห็นกันบ่อยๆว่า พี่แกไม่ค่อยเล่นคอมโบร่วมกับปีกสักเท่าไหร่ ยิ่งตอนมูดริคลงนี่การจ่ายบอลทำเกมร่วมกันน้อยมาก

และยังมีการเล่นที่ไม่ได้สร้าง Ball Progression ให้เชลซีอีก ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้พี่แกเป็นแบ็คสาย Progression จ๋าๆคนนึงเลยด้วยซ้ำ เรื่องนี้น่าตกใจมาก และไม่แปลกใจเลยว่าทำไมฟอร์มดรอปขนาดนั้น

ปัจจัยตรงนี้เกิดขึ้นจากทั้งสองฝ่าย จากระบบของเชลซีเองที่เขาไม่ได้เล่นเต็มที่เหมือนสมัยอยู่ไบรท์ตัน และกับเจ้าตัวเองด้วยที่งัดฟอร์มเก่ากลับมาไม่ได้ ทั้งๆที่ตัวเองก็มีการเล่นที่แพรวพราวใช้ได้เหมือนกัน

ยังไงถึงตรงนี้ ในฐานะแฟนผีคนนึงที่สนใจการเล่นของเขา และวิเคราะห์ความน่าจะเป็นเอาไว้ว่าคูคูเรย่ามีโอกาสย้ายมาแมนยู แต่ในเมื่อมันไม่เกิดขึ้นแล้วก็ไม่เป็นไร เราในฐานะคนนอก ก็ขอเอาใจช่วยให้คูคูเรย่า หาทางเรียกฟอร์มของเขากลับมาให้ได้ ไม่ว่าจะอยู่กับเชลซี หรือย้ายไปไหนก็ตาม

นักเตะมีของดีในตัวอยู่แล้ว แค่ใช้ให้ถูก "ธรรมชาติ" ที่เขาเป็นแบ็คที่ทำเกมบุกขึ้นหน้าเยอะๆก็พอ แล้วเดี๋ยวฟอร์มก็จะกลับมาเอง ทีมไหนที่ขาด Progressive Full-Back แบบนี้อยู่จะลองเอาเขาไปใช้งาน ก็น่าจะได้ของดีไปใช้แน่นอน

เชื่อว่าแกยังมีความสามารถจะเรียกฟอร์มเก่าๆกลับมาได้ เพิ่งอายุ 25 เอง ยังไปได้อีกเยอะครับ

#BELIEVE 

-ศาลาผี-

References

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด