:::     :::

เรื่องเล่าเสื้อฟุตบอลคลาสสิค

วันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 คอลัมน์ Zero to Hero โดย บังคุง
459
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
สำหรับฟุตบอลกับแฟชั่น ถือเป็นของคู่กัน

เราจะเห็นได้ว่า สโมสรต่างๆ พยายามออกเสื้อแข่งใหม่ ในทุกฤดูกาล ปีละ 2-3 รูปแบบเป็นอย่างน้อย แน่นอนว่า เสื้อบอลใหม่ๆ ย่อมเป็นการดึงดูดความสนใจ และเงินในกระเป๋าของแฟนบอล เพื่อเป็นการสนับสนุนสโมสรอีกหนึ่งช่องทาง 


อย่างไรก็ตาม แฟนบอลจำนวนไม่น้อย กลับหลงรักเสื้อบอลยุคเก่าๆ หรือที่เรียกว่า “เสื้อบอลคลาสสิก”เมื่อวันเวลาผ่านไป เสื้อบอลโบราณเหล่านี้ เพิ่มคุณค่าเป็นทวีคูณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาซื้อขาย รวมถึงความหายากที่แตกต่างกันไป 


หากเอ่ยถึงร้านเสื้อบอลคลาสสิกที่ใหญ่ และมีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกแล้ว ย่อมหนีไม่พ้น “Classic Football Shirt”นอกจากการขายที่จุดเริ่มต้นของร้านอย่างที่ประเทศอังกฤษ - ปัจจุบัน “Classic Football Shirt” ส่งขายไปทั่วโลกเป็นที่เรียบร้อย 


แฟนบอลจำนวนมหาศาล เลือกซื้อเสื้อคลาสสิกของพวกเขา ผ่านหน้าร้าน และเว็บไซต์ จนกลายเป็นธุรกิจที่ฟันกำไรอย่างมหาศาล กระนั้น เรื่องราวที่หลายคนอาจยังไม่เคยทราบมาก่อน นั่นคือกว่าจะมาเป็น “Classic Football Shirt” ผู้ก่อตั้งต้องผ่านอะไรมาอย่างมากมาย 


อาจกล่าวได้ว่า 2 หนุ่มผู้ก่อตั้ง ต้องคอยซื้อมาขายไปกับเสื้อบอลคลาสสิก พร้อมกับขายมัน เพื่อเป็นการประทังชีวิตของตัวเอง ช่วงนี้ เราลองไปย้อนดูจุดเริ่มต้นเล็กๆ สู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของร้าน “Classic Football Shirt” กันหน่อย 

“Classic Football Shirt” ถูกก่อตั้งเป็นครั้งแรก ในช่วงปี 2006 ที่เมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ท่ามกลางความสวยงาม และความประสบความสำเร็จ เหมือนในปัจจุบัน ร้านแห่งนี้ ต้องผ่านความอดทน และความเจ็บปวดมาอย่างมากมาย 


เรื่องราวทั้งหมด เริ่มต้นขึ้น จากชายที่มีนามว่า “ดั๊ก เบียร์ตัน” นักศึกษาของสาขาการจัดการธุรกิจ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ เบียร์ตัน ต้องการไปงานเลี้ยงแห่งหนึ่ง เขาตัดสินใจแต่งตัวในธีมของพอล แกสคอยน์ พร้อมสวมเสื้อทีมชาติอังกฤษ ในเวิลด์คัพ 90 ที่มีราคา 5 ปอนด์ 


หลังจากนั้น เบียร์ตัน ขัดสนเรื่องการเงินเป็นอย่างมาก เขาตัดสินใจนำเสื้อ “สิงโตคำราม” ตัวดังกล่าว ออกประมูลผ่านทางเว็บไซต์ “Ebay" ผลปรากฏว่า เสื้อบอลทีมชาติอังกฤษ ในฟุตบอลโลก 1990 ที่สกรีนชื่อของแกซซ่า ถูกประมูลไปถึง 50 ปอนด์เลยทีเดียว 


จุดนั้นเอง ทำให้เบียร์ตัน เล็งเห็นโอกาสบางอย่าง นั่นคือธุรกิจการซื้อขายเสื้อบอลคลาสสิก เบียร์ตัน ชักชวนเพื่อนสนิทอย่าง “แม็ตต์ เดลล์” เข้ามาร่วมกันทำธุรกิจนี้ แน่นอนว่า พวกเขาต่างมีความหลงใหลในเสื้อบอลยุคเก่าเหมือนกัน 


ทั้งสองคนวานให้เพื่อนอีกคน ช่วยสร้างเว็บไซต์ขึ้นมา เพื่อเป็นสื่อกลางในการซื้อขายเสื้อบอลคลาสสิก  เมื่อพวกเขาเรียนจบในปีดังกล่าว (2006) พวกเขาก็เริ่มซื้อเสื้อบอลเก่าๆ เพื่อมาเก็บเป็นสต็อค โดยอาศัยห้องเล็กๆ ในย่านฟอลโลว์ฟิลด์ เป็นโกดัง


อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นของเบียร์ตัน และเดลล์ ไม่ได้สวยงามเหมือนที่คิด พวกเขาต้องใช้เงินเก็บทั้งหมดที่มี เพื่อเดิมพันกับความฝันครั้งนี้ 

ช่วงเวลาที่แฟนบอลส่วนมาก เลือกจะสะสมเสื้อทีมดังอย่าง โดยเฉพาะทีมท้องถิ่นอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กระนั้น เบียร์ตัน กลับมีแนวทางที่แตกต่างออกไป เขาเริ่มสะสมเสื้อแข่งชุด 3 จากทีมลีกต่างประเทศ กล่าวง่ายๆคือ เขาต้องซื้อเสื้อบอลแปลกๆเข้าคลัง


ภายใต้ข้อแม้ว่า ชุดแข่งจากทีมแปลกๆเหล่านั้น จำเป็นต้องมีการออกแบบ และรูปลักษณ์ที่น่าสนใจ 

ช่วง 2-3 เดือนแรกของการทำธุรกิจ ถือเป็นช่วงเวลาที่โหดร้ายเอามากๆ เมื่อเบียร์ตัน และเดลล์ ซื้อเสื้อบอลไปมาก จนแทบจะเป็นคนล้มละลายเลย


เรื่องราวที่น่าเหลือเชื่อคือ น้องชายวัย 15 ขวบของเบียร์ตัน ยังมีเงินติดตัวมากกว่าพี่ชายคนนี้เสียอีก คนใกล้ชิดเล่าว่า ทั้งสองคนเกือบกลายเป็นคนขาดสารอาหาร เพราะว่าพวกเขาทำได้เพียงกินอาหารขั้นพื้นฐาน พวกเขาต้องประหยัดให้มากที่สุด


เพราะทุกอย่างหมดไปกับการซื้อเสื้อบอล ตอนนั้น พวกเขายังไม่มีการขาย ทำให้ยังไม่มีเงิน ชีวิตของพวกเขาถูกแขวนบนอนาคตที่ไม่มีใครล่วงรู้ อย่างไรก็ตาม เบียร์ตัน และเดลล์ ถือว่าเด็ดเดี่ยวมาก พวกเขาลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ด้วยความตื่นเต้น ในการจัดการกับเสื้อฟุตบอล


หลังจากเริ่มตั้งไข่ พวกเขานั่งอยู่ในห้องนั่งเล่นตลอดทั้งวัน เพื่อคอยค้นหา , ซื้อ และขายเสื้อบอล ผ่านทางแล็ปท็อป 


แม้ในวันที่พวกเขาออกไปปาร์ตี้ และกลับบ้านมาตอนเวลาตี 3 พวกเขายังหยิบแล็ปท็อปขึ้นมา และเริ่มทำงานต่อไปเรื่อยๆ ความอดทนของพวกเขาเริ่มผลิดอกออกผล ผลสุดท้าย จุดเปลี่ยนสำคัญก็เกิดขึ้นกับชีวิตของพวกเขา

วันหนึ่งในช่วงสุดสัปดาห์ ชีวิตของเบียร์ตัน และเดลล์ ก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล เมื่อพวกเขาได้พบนักสะสมคนหนึ่ง ที่ยินดีขายคอลเลคชั่นชุดแข่งของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่เก็บสะสมมา ตั้งแต่ยุค80 จนถึงปัจจุบัน 


นักสะสมคนดังกล่าว ขอแลกเปลี่ยนเป็นเสื้อแบบแมตช์ วอน “มาร์ค ฮิวจ์ส” ที่พวกเขาคว้ามาได้จากโลกออนไลน์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เสื้อบอลในคลังของเบียร์ตัน และเดลล์ ก็ทวีมูลค่ามากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่ของความเก่า และความหายาก


ย้อนกลับไป ในช่วงปี 2006 ตลาดอีคอมเมิร์ซ เริ่มมีความโดดเด่นขึ้นมา แต่ไม่มีช่องทางที่ชัดเจน สำหรับการขายเสื้อฟุตบอลคลาสสิก เนื่องจากสถานการณ์เวลานั้น สโมสรในพรีเมียร์ลีก เริ่มออกชุดแข่งใหม่ 3 ชุดทุกปี 


ภายใต้อุปสรรค ยังคงซุกซ่อนโอกาสด้วยเสมอ ด้วยดีไซน์ และเนื้อผ้าของเสื้อบอลรุ่นใหม่ๆ ที่เริ่มตายตัวมากขึ้น ส่งผลให้แฟนบอล และนักสะสม เริ่มมีความอยากที่จะนึกถึงสไตล์ที่มีอายุมากกว่า และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว


ปี 2006 หากย้อนกลับไป 20 ปี ความทรงจำต่างๆ ถูกฝังอยู่ที่ฟุตบอลโลก 86, ยูโร 88 ต่อยอดถึงเวิลด์ คัพ 90 ช่วงเวลานั้น หากถามนักสะสมถึง 5 อันดับแรกของเสื้อบอลคลาสสิก และเกือบทั้งหมดจะมีเสื้อบอลจากยุคนั้นรวมอยู่ด้วยเสมอ


ความโหยหาอดีตเหล่านั้นเอง ทำให้ร้าน “Classic Football Shirt” เติบโตอย่างมั่นคง จากการซื้อขายในออนไลน์ พวกเขาก็มีหน้าร้านเป็นผลสำเร็จ


“Classic Football Shirt” มีเจตนารมณ์ ที่ชัดเจนมากว่า โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนจะชอบความคิดถึงอดีตมากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พวกมองต่อไปว่า เสื้อบอลคลาสสิก คือตัวเชื่อมโยงไปยังอดีตเหล่านั้น 

เมื่อคุณเห็นเสื้อบอลคลาสสิก คุณจะจำช่วงเวลานั้นได้ ช่วยให้คุณได้ช่วงเวลาสั้นๆเหล่านั้น กลับคืนมา


ลูกค้าที่เป็นผู้ใหญ่หลายคน เดินเข้าไปในห้องสต็อกสินค้าขนาดใหญ่ของ “Classic Football Shirt” และร้องไห้ออกมา นั่นเป็นเพราะ เสื้อบอลคลาสสิกเหล่านั้น ถือเป็นเครื่องมือในการย้อนพาพวกเขาไปยังสถานที่พิเศษ ที่ติดในความทรงจำ 


จากร้านค้าเล็กๆ ที่ต้องซื้อขายเสื้อบอลคลาสสิก เพื่อเป็นการประทังชีวิต ปัจจุบัน “Classic Football Shirt” ก้าวสู่ความยิ่งใหญ่ พวกเขามีเสื้อบอลโบราณ ที่ขายบนเว็บไซต์หลายหมื่นตัว และมีอีกหลายพันตัวที่นำมาลดราคา เพื่อให้เป็นเจ้าของกัน 


นอกจากนี้ พวกเขายังมีอีกนับร้อยนับพันตัว ที่เป็นเสื้อแบบ “แมตช์ วอน”  ที่นักเตะสวมลงทำการแข่งขันจริงๆ ย้อนกลับไปปี 2019 สื่อคุณภาพอย่างบีบีซี เคยออกมารายงานตัวเลขที่น่าสนใจเอาไว้ว่า “Classic Football Shirt” มีสต็อคเหยียบแสนรายการ


จากจุดเริ่มต้น พวกเขาต้องขายเสื้อทุกตัวที่เข้ามา เพื่อเป็นการหล่อเลี้ยงสถานะทางการเงิน แต่ปัจจุบัน พวกเขามีการสร้างคอลเลกชั่นที่ไม่มีวันขาย นี่คือเรื่องราวการเดินทางที่แสนยาวนานของ “Classic Football Shirt” ที่ผ่านอะไรมาอย่างมากมายจริงๆ 

ปัจจุบัน “Classic Football Shirt” เดินหน้าสร้างคอนเนคชั่นในวงการลูกหนังอย่างมากมาย พวกเขาบุกไปเอซี มิลาน เพื่อขอซื้อเสื้อรุ่นเก่าๆ ที่สโมสร “ปีศาจแดงดำ” เก็บค้างเอาไว้ในสต็อค นอกจากนี้ พวกเขายังดีลกับทีมดัง ทั้งเรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล และสเปอร์ส 


เรื่องดังกล่าว  เป็นการทำธุรกิจแบบวินๆ เมื่อสโมสรได้ระบายของ ที่ไม่อาจทำการตลาดได้อีกแล้ว ส่วนร้านก็ได้เสื้อคลาสสิกมาขาย นอกจากนี้ “Classic Football Shirt” ยังมีการดีลกับนักเตะระดับตำนาน และนักเตะที่เลิกเล่นไปแล้วหลายคน 


จุดประสงค์ เพื่อเป็นการหาสินค้าหายาก อาทิ เสื้อแมตช์วอนของตัวเอง และเสื้อแมตช์วอนของคู่แข่งที่ไปแลกมา นอกจากนี้ “Classic Football Shirt” เคยสนับสนุน และเป็นสปอนเซอร์คาดอกของทีมฟุตบอลเช่นกัน อาทิ เบิร์นลี่ย์ เป็นต้น 


“Classic Football Shirt” ออกมาทิ้งท้ายว่า การทำธุรกิจของพวกเขานั้น มอบความรู้สึกที่ใหม่เอี่ยมเพราะทุกวัน นั่นเพราะคุณจะค้นพบสิ่งใหม่ๆ (เสื้อบอลคลาสสิก) อยู่ตลอดเวลา พวกเขามักจะตามล่าของกันอยู่เสมอ 


นี่เป็นงานอดิเรกที่ควบคุมไม่ได้ และกลายเป็นความหลงใหลในท้ายที่สุด นี่คือหลักการทำงานของ “Classic Football Shirt” ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จ 

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด