:::     :::

เรื่องเล่าเหยี่ยวลิสบอน

วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 คอลัมน์ Zero to Hero โดย บังคุง
521
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
การซื้อขายนักเตะ" ถือเป็นหนึ่งฟันเฟืองสำคัญ ที่ขับเคลื่อนโลกลูกหนังให้ก้าวไปข้างหน้า

หลายคนอาจเลือกจะมองไปที่บรรดาทีมใหญ่ ที่มีเงินทองมากมายในการซื้อนักเตะ นั่นคือการสร้างความเปลี่ยนแปลง และแรงกระเพื่อมลูกโต ในแต่ละฤดูกาล ส่วนอีกหนึ่งมุม สโมสรที่มีอำนาจรองลงมา ต่างก็มีแนวทางเป็นของตัวเอง โดยหนึ่งวิธีคือการปั้นนักเตะขาย เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน


หากเอ่ยถึงอะคาเดมี่ หรือว่าทีมที่ปั้นนักเตะเก่งสุดในโลก เสียงย่อมแตกไปเพราะแฟนบอลแต่ละคน ย่อมมีมุมมองที่แตกต่างกัน แต่เวลาที่เราพูดถึงทีมที่ประสบความสำเร็จ สำหรับการปั้นนักฟุตบอล พร้อมกับขายทำกำไรดีสุดในโลก คำตอบมีเพียงทีมเดียว นั่นคือ “เบนฟิก้า”


ตัวเลขทางสถิติต่างๆ กำลังบอกเราแบบนั้น ยอดทีมจากโปรตุเกส แห่งนี้ สถาปนาตัวเองเป็นเจ้าพ่อ ในเรื่องการขายนักเตะแบบฟันกำไรมหาศาล แผนการที่พวกเขาเตรียมให้กับนักเตะสักหนึ่งคน มักออกผลมาเป็นค่าตัวที่มากเกินจินตนาการ เราลองไปดูกันหน่อยว่า ทำไมพวกเขาถึงเป็นมหาอำนาจ ในการปั้นนักเตะขาย 

ย้อนกลับไป 2 ปีที่ผ่านมา “CIES Football Observatory" หน่วยงานวิเคราะห์สถิติชื่อดังของวงการฟุตบอล ออกมาเปิดเผยตัวเลขที่น่าทึ่ง รายงานระบุว่า ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา เบนฟิก้า ถือว่าเป็นแหล่งเพาะพันธุ์นักเตะ ที่สร้างกำไรได้มากสุดในโลก ที่จำนวน 336 ล้านปอนด์


ตัวเลขดังกล่าว นับรวมเอานักเตะเยาวชนที่พวกเขาฟูมฟักมากับมือ รวมถึงการซื้อนักเตะที่ยังไม่ค่อยมีชื่อเสียง เพื่อนำมาปั้น และขายต่อในราคาแพง ตั้งแต่ปี 2015 “เหยี่ยวลิสบอน” ยังทำกำไรจากการขายนักเตะ เหนือทีมดังอย่างเรอัล มาดริด ที่ตามมาเป็นอันดับสอง รวมถึงอันดับสามอย่างโมนาโก


หากนับรวมตลอดทศวรรษหลังสุดแล้ว เบนฟิก้า ยังสามารถสร้างยอดขาย จากการปล่อยนักเตะออกไปที่ 1.14 พันล้านปอนด์ ลองคิดภาพตาม “5 อันดับแรก” นักเตะที่ย้ายตัวแพงสุดในประวัติศาสตร์ ผลปรากฏว่ามีนักเตะที่เบนฟิก้า ขายออกไป เข้าไปอยู่ลิสต์แล้ว 2 คน 


นั่นคือ “ชูเอา เฟลิกซ์” ที่เบนฟิก้า ขายต่อให้กับทางแอตเลติโก้ มาดริด ด้วยค่าตัว 115 ล้านปอนด์ ทั้งที่เพิ่งลงเล่นทีมชุดใหญ่เพียงฤดูกาลเดียว ส่วนอีกหนึ่งคนคือ “เอ็นโซ่ เฟร์นันเดซ” ที่เบนฟิก้า ซื้อมาจากริเวอร์เพลท ในสนนราคาเพียง 15 ล้านปอนด์ ก่อนขายให้เชลซี 106 ล้านปอนด์


ปัจจัยสำคัญ ในการที่เบนฟิก้า ก้าวมาเป็นมหาอำนาจด้านการปั้นนักเตะ อันนำมาสู่การทำกำไร คือสิ่งที่เรียกว่า “ระบบแมวมอง” เบนฟิก้า วางแมวมองให้กระจายอยู่ทั่วโลก โดยเน้นหนักไปที่ฝั่งของยุโรป และอเมริกาใต้ ซึ่งเป็น 2 ทวีปที่ทักษะของนักเตะ สามารถปลุกปั้น และขายต่อแพงได้


เครือข่ายแมวมองของเบนฟิก้า มีขนาดที่ใหญ่ และความเชื่อมโยงกันอย่างน่าประหลาดใจ ราวกับใยแมงมุมเลยทีเดียว บางคนถึงกับเปรียบเปรยว่า เมื่อใดที่พรสวรรค์ของดาวรุ่งประกายแสง แมวมองเบนฟิก้า มักจะอยู่ตรงนั้นเสมอ สำหรับนักเตะที่เบนฟิก้า เริ่มดึงตัวเข้าสู่อะคาเดมี่ ส่วนมากจะเริ่มต้นที่อายุ 6 ขวบ สโมสรยังให้หลายภาคส่วน เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการขัดเกลา


นอกจากแมวมองแล้ว เบนฟิก้า ยังมอบหมายหน้าที่ให้กับโค้ช, ผู้ช่วยโค้ช, คุณครู และผู้เชี่ยวชาญด้านสังคม ในการดูแลเด็กๆของพวกเขา เบนฟิก้า ตระหนักเสมอว่า พวกเขาไม่ได้เป็นทีมที่มีฐานะมั่งคั่งทางการเงิน เหมือนกับพวกเรอัล มาดริด, เปแอสเช, แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ดังนั้น พวกเขาต้องปูรากฐานจากระบบแมวมองเอง

ปัจจัยอีกหนึ่งประการ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของระบบเยาวชนของทีมเบนฟิก้า นั่นคือ “การดึงนักเตะเยาวชนเข้าสู่วัฒนธรรมของทีมอย่างรวดเร็ว” เมื่อฤดูกาลที่ผ่านมา เบนฟิก้า ดึงนักเตะดาวรุ่งฝีเท้าดี อายุระหว่าง 6-12 ปี เข้ามาสู่อะคาเดมี่ เป็นจำนวนกว่า 70 เปอร์เซ็นต์


สโมสรอื่นทั่วไป มักระบุรายละเอียดภายในสัญญาว่า นักเตะเยาวชนที่ทำการเซ็นสัญญาเข้าร่วมอะคาเดมี่ ต้องย้ายมากินอยู่ และใช้ชีวิตร่วมกับทีม หมายความว่า นักเตะอายุน้อยเหล่านั้น ต้องเจอกับอุปสรรคสำคัญ คือเรื่องของการปรับตัว และโรคคิดถึงบ้าน


ปัจจัยเหล่านั้น ถือเป็นตัวขัดขวางพัฒนาการดาวรุ่งในแบบที่ควรจะเป็น หลายทีมพลาดการเจียระไนเพชรเม็ดงาม เนื่องมาจากข้อจำกัดเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม เบนฟิก้า กลับมีไอเดียในอีกแนวทาง ด้วยการเปิดโรงเรียนลูกหนังพิเศษ เพิ่มเติมอีก 4-5 แห่ง โดยกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศโปรตุเกส 


พวกเขาทำการยึดจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เอื้อประโยชน์ด้านการเดินทาง และการใช้ชีวิตต่อเด็กๆ ในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลออกไป โดยจุดประสงค์หลักสำคัญคือ เยาวชนจะได้มีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสโมสร โดยไม่ต้องย้ายออกมาจากอ้อมอกครอบครัว เพื่อมุ่งหน้ามาใช้ชีวิตที่ลิสบอน


เบนฟิก้า สามารถแข่งขันกับบราก้า และเอฟซี ปอร์โต้ ทีมจากภาคเหนือของประเทศ ในการช่วงชิงตัวเยาวชนฝีเท้าดีที่สุดในภูมิภาคนั้น เยาวชนในพื้นที่ต่างๆของประเทศ จึงมีเบนฟิก้า เป็นตัวเลือกที่น่าดึงดูดใจ แม้ว่าเบนฟิก้า จะไม่ได้เป็นทีมในท้องถิ่นของตัวเองก็ตาม


ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ดาวรุ่งพรสวรรค์สูงอย่างกอนซาโล่ รามอส และอันโตนิโอ ซิลวา ต่างเติบโตในศูนย์เยาวชนเบนฟิก้า ที่ตั้งอยู่นอกเมืองหลวง แน่นอนว่า นี่คือดาวรุ่ง 2 คน ที่เตรียมถูกขายออกไปด้วยค่าตัวมหาศาล ขณะที่ “เปโดร มิล-โฮเมนส์”  ในฐานะผู้อำนวยการอะคาเดมี่ของเบนฟิก้า ออกมากล่าวถึงเรื่องนี้อย่างน่าสนใจ 


โดยกล่าวว่า “ประชากรในกรุงลิสบอน มีแค่ประมาณหลัก 2 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการควานหานักเตะเยาวชนฝีเท้าดี ดังนั้น เบนฟิก้า จึงต้องขยายโอกาส ในการหาเพชรเม็ดงามทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ให้มากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ การตั้งศูนย์เยาวชนอยู่นอกเมืองหลวง เป็นการเปิดโอกาสให้เบนฟิก้า ถ่ายทอดวัฒนธรรมของสโมสร เพื่อเข้าไปถึงแข้งดาวรุ่งมากขึ้น”

ปัจจัยนี้ สืบเนื่องมาจากกระบวนการสรรหานักเตะเยาวชน เมื่อถึงจุดอิ่มตัว เบนฟิก้า จะเพิ่มเติมความเป็นมนุษย์ลงไป เพื่อผลดีต่อพัฒนาการของนักเตะ “โรดริโก้ มากัลเญส” ผู้ประสานงาน ที่ทำงานร่วมกับทีมเยาวชนของเบนฟิก้า ตั้งแต่ปี 2005 คือผู้ที่จะมาให้คำตอบในเรื่องนี้ 


มากัลเญส บอกว่า กุญแจความสำเร็จของเบนฟิก้า นั่นคือการพัฒนาดาวรุ่ง ในฐานะความเป็นมนุษย์ ก่อนที่จะเป็นในฐานะของนักฟุตบอล  ในทุกระดับชั้น เบนฟิก้า มีนักเตะเยาวชนในความดูแลเกือบหลัก 100 คน เมื่อใครอายุถึงรุ่นยู-19 พวกเขาจะต้องออกไปเติบโตในแบบฉบับตัวเอง


กล่าวคือ นักเตะเหล่านั้น ต้องออกไปหาบ้านพัก หรือว่าอพาร์ตเมนต์ที่ตั้งอยู่ในตัวเมือง บางคนอาจอยู่คนเดียว บางคนอาจอยู่กับเพื่อนร่วมทีม 2-3 คน โดยมากัลเญส บอกว่า “ตามความเห็นของสโมสร นี่คือช่วงเวลาที่นักเตะต้องมีชีวิตเป็นของตัวเอง นี่คือจุดเริ่มต้นของชีวิตนอกอะคาเดมี่” 


“จุดประสงค์หลักคือ ทีมอยากให้นักเตะเตรียมพร้อมสำหรับการใช้ชีวิต เราตระหนักดีว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะก้าวมาเล่นทีมชุดใหญ่ หรือย้ายไปทีมดังๆ สโมสรจึงมีเป้าหมายแรก ในการพัฒนาแง่ของความเป็นมนุษย์ และเสริมเรื่องวิชาการ เป็นการเตรียมพร้อม หากนักเตะไม่ได้ไปต่อด้านฟุตบอล”

เมื่อเราพูดถึงแหล่งผลิตนักเตะชั้นยอด เบนฟิก้า ยังมีอีกหนึ่งอาวุธลับ นั่นคือการมีทีมสำรอง หรือว่า “เบนฟิก้า ชุดบี” เป็นของตัวเอง เป็นโอกาสที่จะบ่มเพาะดาวรุ่ง ภายใต้บรรยากาศของการแข่งขันจริง เพราะอย่าลืมว่า เบนฟิก้า ชุดบี ลงเล่นในลีกา 2 หรือลีกรองจากลีกสูงสุด


หากเปรียบเทียบกับลีกใหญ่ๆ อาทิพรีเมียร์ลีก ทีมชั้นนำมักส่งนักเตะดาวรุ่งของตัวเองออกไปหาประสบการณ์ด้วยการยืมตัว โดยการยืมตัวนั้น ดาวรุ่งเหล่าอาจไม่มีโอกาสในการลงสนามมากนัก หรือไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการ 


สลับมาที่เบนฟิก้า นอกจากนักเตะอายุน้อยจะได้โลดแล่นในการแข่งขันจริงในดิวิชั่น 2 แล้ว พวกเขายังได้โอกาสสอดแทรกมาร่วมซ้อมกับทีมชุดใหญ่ด้วย ซึ่งการดำเนินนโยบายรูปแบบนี้ ถือว่าได้ผลลัพธ์ที่ออกมาดีอย่างน่าเหลือเชื่อ เพราะว่าสโมสรเกิดการแข่งขันอย่างรุนแรงภายในทีม  


นักเตะในทีมเยาวชน ที่อายุน้อยกว่า 19 ปี, นักเตะในทีมสำรอง รวมถึงนักเตะในทีมชุดใหญ่ ต่างฝึกซ้อมอย่างเอาเป็นเอาตาย เพราะทุกคนต่างรู้ดีกว่า หากพวกเขาทำผลงานในช่วงการฝึกซ้อมได้ดีแล้ว โอกาสยึดตำแหน่งในทีมชุดใหญ่ก็จะมีมาก โดยไม่เกี่ยวว่าจะอายุเท่าไหร่


อีกหนึ่งปัจจัยที่สามารถต่อยอดได้ นั่นคือเบนฟิก้า ไม่ได้ออกแบบโปรแกรมการฝึกซ้อมแบบตามมีตามเกิด ทัพ “เหยี่ยวลิสบอน” ออกแบบโปรแกรมซ้อม ตามศักยภาพนักเตะที่พวกเขามีอยู่ในมือ นี่คือเหตุผลที่หลายคนมีพัฒนาการแบบก้าวกระโดด ดาวรุ่งที่ฝีเท้าเก่งมากพอ ต่างมีความสุข และอยากพัฒนาตัวเอง


ตัวอย่างที่เห็นภาพได้อย่างชัดเจน นั่นคือ ชูเอา เฟลิกซ์, รูเบน ดิอาซ, ชูเอา กานเซโล่ หรือแม้กระทั่งแบร์นาโด้ ซิลวา สำหรับกลุ่มนักเตะเหล่านี้ ล้วนผ่านการเล่นให้กับเบนฟิก้า ชุดบี มาหมดแล้ว ผลสุดท้าย พวกเขากลายเป็นนักเตะที่สโมสรสามารถขายออกไปแบบทำกำไรได้ 


เบนฟิก้า ออกมาทิ้งท้ายถึงปรัชญาการปั้นนักเตะว่า ไม่ว่าจะเยาวชน หรือนักเตะที่ถูกซื้อเข้ามา ต้องมีความแข็งแกร่งด้านจิตใจ สโมสรจะมอบทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่จำเป็น เพื่อยกระดับนักเตะคนนั้นๆ ในการก้าวไปอยู่จุดสูงสุด โดยเฉพาะในการแข่งขันเกมระดับสูง เพราะนอกจากผลงานในสนามแล้ว สิ่งเหล่านี้ จะถูกนำมาแปรเปลี่ยนเป็นผลตอบแทนจากการลงทุน 


สโมสรยอมรับว่า อุตสาหกรรมการซื้อขายนักเตะ บางครั้ง ก็ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว โอกาสในการซื้อขายผู้เล่นถูกเปิดกว้างอยู่เสมอ



ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด