ปาร์เตย์: กรณีศึกษาระหว่าง 'กฎหมาย' กับ 'ศีลธรรม'

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
เป็นเวลามากกว่า 3 ปีที่ โธมัส ปาร์เตย์ ลงเล่นให้ อาร์เซน่อล ทั้งที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีอาญาร้ายแรงทางเพศ

ปาร์เตย์ หมดสัญญากับ อาร์เซน่อล เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังลงสนามไป 167 นัด นับตั้งแต่ย้ายมาจาก แอตเลติโก มาดริด ด้วยค่าตัว 45 ล้านปอนด์ เมื่อปี 2020

เพียง 4 วันหลังจากนั้น เขาถูกตั้งข้อหา 5 กระทงในคดีข่มขืน และอีก 1 กระทงในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ เหตุการณ์ที่กล่าวหานี้เกิดขึ้นระหว่างปี 2021 ถึง 2022 และเกี่ยวข้องกับผู้หญิง 3 คน 

ลำดับเหตุการณ์นี้เป็นอย่างไร ไปไล่เรียงไทม์ไลน์กันอีกครั้งก่อนเข้าสู่เกี่ยวกับความสมดุลระหว่าง 'กฎหมาย' กับ 'ศีลธรรม' และบทวิเคราะห์จาก ดิ แอธเลติก 

∎ สิงหาคม 2021:  มีผู้หญิงอย่างน้อยหนึ่งคนไปแจ้งความกับตำรวจมหานครลอนดอน (Met Police) ว่า โธมัส ปาร์เตย์ ได้กระทำความผิดทางเพศกับเธอ ซึ่งเป็นการแจ้งความอย่างเป็นทางการครั้งแรกเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่อ้างว่าเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น

กันยายน 2021: หนึ่งในผู้หญิงได้ติดต่อสโมสร อาร์เซน่อล โดยตรงเพื่อแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้น

สโมสรได้รับการติดต่อจากตำรวจลอนดอนว่า ปาร์เตย์ อยู่ระหว่างการสอบสวนคดีทางเพศ

เมื่อต้นปี 2025: ขณะสโมสรเปิดโต๊ะคุยสัญญาใหม่กับ ปาร์เตย์ พวกเขาทราบดีว่าอัยการสูงสุดกำลังพิจารณาว่าจะตั้งข้อหาหรือไม่

แถลงการณ์ของอาร์เซน่อล: "สัญญาของนักเตะสิ้นสุดลงเมื่อ 30 มิถุนายน สโมสรไม่สามารถให้ความเห็นเพิ่มเติมได้เนื่องจากอยู่ระหว่างกระบวนการทางกฎหมาย"

❑ อาร์เซน่อล รู้เรื่องนี้แค่ไหน และควรจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร? 

ตามกฎหมายอังกฤษ ชื่อของ โธมัส ปาร์เตย์ ไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้จนกว่าจะถูกตั้งข้อหา และผู้เสียหายในคดีทางเพศมีสิทธิ์ไม่เปิดเผยตัวตนตลอดชีวิต

แต่ในโลกโซเชียล กฎเหล่านี้แทบไม่มีผล หนึ่งในผู้หญิงที่ยื่นเรื่องกล่าวหา ปาร์เตย์ กล่าวว่า "ทุกครั้งที่เขาลงสนาม ฉันจะโดนด่าออนไลน์ ถ้าเขายิงประตูได้ ความรุนแรงของคำด่าก็จะหนักขึ้น"


หลังการแจ้งเตือนจากผู้เสียหาย อาร์เซนอ่ล ได้ส่งเรื่องต่อไปยังฝ่ายกฎหมาย และแจ้งว่าได้ดำเนินการตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัย เนื่องจากผู้ร้องเรียนไม่ใช่ผู้เยาว์

สมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ เอฟเอ ก็ให้คำตอบในทำนองเดียวกัน โดยบอกว่าเรื่องนี้อยู่นอกเหนือขอบเขตดูแลด้านสวัสดิภาพของ FA และปฏิเสธให้ความเห็นเพิ่มเติม

ในสายตาของผู้ร้อง เธอรู้สึกว่าบางคนในสโมสร โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูง ไม่ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจเท่าที่ควร

แม้ในช่วงที่มีการเจรจาสัญญาฉบับใหม่กับ ปาร์เตย์ สโมสรทราบดีว่าเขาอาจถูกตั้งข้อหา แต่เขาก็ยังได้ลงสนามอย่างต่อเนื่อง และปรากฏตัวในแคมเปญของสโมสรตามปกติ

"มันรู้สึกท้อแท้มาก... ทั้งที่ตำรวจยืนยันกับสโมสรว่าคดีนี้ร้ายแรงแค่ไหนแล้ว" ผู้กล่าวหาอีกคนหนึ่งกล่าว

❑ จุดที่ถูกตั้งคำถามหนักที่สุด

หนึ่งในจุดที่ถูกวิจารณ์มากที่สุดคือ การตัดสินใจของ อาร์เซน่อล ที่เปิดโต๊ะเจรจาสัญญาฉบับใหม่กับ โธมัส ปาร์เตย์

ย้อนกลับไปในเดือนตุลาคม 2020 ปาร์เตย์ เซ็นสัญญา 5 ปี ตอนย้ายมาร่วมทีม กลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่รับค่าเหนื่อยสูงสุดของสโมสร ซึ่งสัญญาดังกล่าวกำลังจะหมดลงในช่วงซัมเมอร์ปี 2025 หลายฝ่ายคาดว่าเขาจะย้ายออกแบบไร้ค่าตัว โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงข้อกล่าวหาร้ายแรง และความเสี่ยงที่เขาอาจถูกตั้งข้อหาในไม่ช้า

แต่แม้สัญญาใกล้หมด ปาร์เตย์ ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในทีมชุดใหญ่ เขาลงสนามถึง 52 นัดทุกรายการในฤดูกาลล่าสุด และในเดือนพฤษภาคม 2025 มิเกล อาร์เตต้า ผู้จัดการทีมยังยืนยันว่าเขาต้องการให้ปาร์เตย์อยู่กับทีมต่อไป

"แน่นอน" อาร์เตต้า ตอบ เมื่อถูกถามว่าอยากให้ ปาร์เตย์ อยู่ต่อหรือไม่

"ถ้าพูดถึงความสม่ำเสมอ ฤดูกาลนี้เป็นฤดูกาลที่ดีที่สุดของเขาเลย ทั้งฟอร์มการเล่น ความฟิต เขาเป็นนักเตะที่สำคัญมากของเรา"


นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ อาร์เตต้า ออกมาหนุนหลัง ปาร์เตย์ ต่อหน้าสื่อ ย้อนกลับไปเดือนตุลาคม 2022 หลัง ปาร์เตย์ ซัดประตู สเปอร์ส ในเกมดาร์บี้แมตช์ อาร์เตต้า กล่าวว่า "จากสิ่งที่เขาต้องเผชิญ ทั้งอาการบาดเจ็บและความพยายามอย่างหนักเพื่อให้พร้อมลงสนามในสัปดาห์นี้ ผมดีใจกับเขามาก เขาสมควรได้รับมัน"

คำพูดเหล่านี้สะท้อนมุมมองของ 'ฝ่ายฟุตบอล' ในองค์กร ที่มุ่งเน้นไปที่ผลงานในสนามเป็นหลัก หนึ่งในผู้บริหารระดับสูงของสโมสรเคยพูดไว้เมื่อปี 2022 ว่า "เราต้องเชื่อในตัวเขา เขาคือนักเตะของเรา"

❑ เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ขาวกับดำ

เมื่อมีนักเตะที่เผชิญข้อกล่าวหาทางเพศร้ายแรง ไม่ว่าจะมีน้ำหนักมากหรือน้อยแค่ไหน มันย่อมก่อให้เกิดคำถามทางศีลธรรมทันที 

นักเตะคนนี้ควรสวมเสื้อของสโมสรต่อไปหรือไม่? จนกว่าคดีจะถึงบทสรุป?

ดิ แอธเลติก รายงานเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า อาร์เซน่อล เปิดเจรจาสัญญาใหม่กับ ปาร์เตย์ และในวันที่ 4 มิถุนายน 2025 อาร์เซน่อลออกแถลงการณ์ในเว็บไซต์ทางการว่า "การเจรจากำลังดำเนินอยู่"

ข่าวนี้จุดชนวนความไม่พอใจจากแฟนบอลบางกลุ่ม โดยกลุ่มที่ชื่อว่า 'Arsenal Supporters Against Sexual Violence' ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงสโมสรตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2024 เกี่ยวกับปัญหาที่ฟุตบอลมักจะ 'ยอมรับ' นักเตะที่เผชิญข้อกล่าวหาทางเพศในเกมที่เรารัก"

จดหมายดังกล่าวมีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 9,000 รายชื่อ และกลุ่มนี้ยังจัดการประท้วงนอกสนามเอมิเรตส์ก่อนการแข่งขันหลายครั้ง

นอกจากนี้ พนักงานหลายคนของ อาร์เซน่อล รู้สึกผิดหวังกับการตอบสนองของสโมสร บางคนถึงกับติดต่อกับสื่อเพื่อระบายว่าพวกเขารู้สึก "ไม่เชื่อสายตา" เมื่อรู้ว่าสโมสรอยู่ระหว่างเจรจากับ ปาร์เตย์ และย้ำว่า พวกเขาไม่ได้คิดแบบนี้เพียงลำพัง

สำหรับหนึ่งในผู้หญิงที่กล่าวหา ปาร์เตย์ เธอไม่ได้แปลกใจเลย "มันสะท้อนให้เห็นทัศนคติของอาร์เซน่อลตลอดสามปีที่ผ่านมา"

สุดท้ายแล้ว อาร์เซน่อล และ ปาร์เตย์ ไม่สามารถตกลงเงื่อนไขใหม่กันได้ เขาจากทีมไปเมื่อสัญญาสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน และเพียง 4 วันหลังจากนั้น ปาร์เตย์ ก็ถูกตั้งข้อหาร้ายแรงในคดีล่วงละเมิดทางเพศ


❑ ทำไม อาร์เซน่อล ยังส่ง ปาร์เตย์ ลงเล่น?

อาร์เซน่อล เผชิญกับแรงกดดันอย่างมากจากการตัดสินใจส่ง โธมัส ปาร์เตย์ ลงสนามอย่างต่อเนื่องระหว่างที่เขายังอยู่ภายใต้การสอบสวนคดีอาญาร้ายแรง

ดิ แอธเลติก ได้ยื่นคำถามหลายข้อไปยังสโมสร ซึ่งรวมถึง: ทราบเรื่องข้อกล่าวหาครั้งแรกตอนไหน? , กระบวนการภายในของสโมสรเป็นอย่างไร? , มีการตัดสินใจลดบทบาทของ ปาร์เตย์ ในสื่อหรือกิจกรรมประชาสัมพันธ์หรือไม่? และใครเป็นผู้ตัดสินใจให้เขาลงเล่นต่อ และเปิดโต๊ะคุยสัญญาฉบับใหม่?

อาร์เซน่อล ปฏิเสธที่จะให้ความเห็น โดยอ้างว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างกระบวนการทางกฎหมาย

ขณะที่ อเล็กซ์ คลาร์ก ทนายความอาวุโสด้านกฎหมายแรงงานจากบริษัท Onside Law อธิบายว่า "แม้จะเป็นกรณีที่มีข้อกล่าวหาร้ายแรงมาก และมีเสียงเรียกร้องให้พักงานนักเตะ แต่ด้วยโครงสร้างของสัญญามาตรฐานในพรีเมียร์ลีก มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับสโมสร"

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าสัญญาของนักเตะในพรีเมียร์ลีก ไม่ได้เขียนขึ้นโดยสโมสรฝ่ายเดียว แต่เป็นผลจากการเจรจาร่วมกันระหว่างพรีเมียร์ลีก, สโมสรต่าง ๆ และสหภาพนักฟุตบอลอาชีพ (PFA – Professional Footballers’ Association)

เพราะมีการเจรจาโดย PFA ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องสิทธิของนักเตะจึงทำให้เงื่อนไขหลายอย่างภายในสัญญา "เอื้อประโยชน์ต่อนักเตะ" มากกว่าสโมสร

สโมสรสามารถพักงานนักเตะได้เพียง สูงสุด 2 สัปดาห์ โดยยังต้องจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวน สโมสรไม่มีสิทธิ์หักค่าจ้างระหว่างที่พักงาน และไม่สามารถขยายการพักงานเกิน 2 สัปดาห์ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากนักเตะ ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ หากนักเตะยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเอง

หากสโมสรสั่งพักงานยาว หรือยกเลิกสัญญาแล้วนักเตะถูกตัดสินว่า "ไม่ผิด" ในภายหลัง สโมสรอาจต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนมาก

"โลกของฟุตบอลไม่สอดคล้องกับกฎหมายแรงงานทั่วไปเลย และกรณีนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก" คลาร์กกล่าว

เพราะเงื่อนไขในสัญญาเหล่านี้ถูกเจรจาให้คุ้มครองนักเตะเป็นหลัก สโมสรจึงต้อง "ระวังอย่างมาก" หากจะลงโทษหรือจัดการใด ๆ กับนักเตะที่ยังไม่มีคำตัดสินทางกฎหมาย


❑ ความสมดุลทางกฎหมาย 

แม้ อาร์เซน่อล อาจไม่มีสิทธิ์พักงาน ปาร์เตย์ แบบไม่จ่ายเงิน แต่สโมสรได้แจ้งตำรวจว่าพวกเขา "ได้พิจารณาเรื่องข้อกล่าวหาแล้ว"

คลาร์ก อธิบายเพิ่มเติมว่า อาร์เซน่อลมี 'หน้าที่ดูแล ปาร์เตย์' ในฐานะลูกจ้าง และอาจเห็นว่าการลงโทษใด ๆ โดยไม่มีคำตัดสินจากศาล อาจขัดต่อหน้าที่นั้น

การพักงานนักเตะอาจถูกตีความว่าสโมสรเชื่อว่าเขามีความผิด ทั้งที่กฎหมายถือว่าเขายังบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าผิด

แต่ในขณะเดียวกัน สโมสรเองก็มีหน้าที่ต่อพนักงานคนอื่น ๆ ในองค์กรที่อาจรู้สึกไม่ปลอดภัยหากต้องทำงานร่วมกับคนที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหาหนัก และยังต้องพิจารณาประเด็นด้าน "การคุ้มครองความปลอดภัย (safeguarding)" ภายในทีมอีกด้วย

ในบริบทที่ยังไร้แนวปฏิบัติที่ชัดเจน ลิซ่า แนนดี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม สื่อ และกีฬาแห่งสหราชอาณาจักร กล่าวผ่านรายการพอดแคสต์ Sports Agents ว่า "ยังไม่มีแนวทางที่เป็นมาตรฐานว่า สโมสรควรจัดการอย่างไรเมื่อนักเตะที่ได้รับค่าจ้างสูงมากเผชิญข้อกล่าวหาเรื่องล่วงละเมิดทางเพศ"

❑ เทียบกับกรณี เบนฌาแม็ง เมนดี้

เบนฌาแม็ง เมนดี้ อดีตกองหลัง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เคยถูกตั้งข้อหาข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศในปี 2021 สโมสรตัดสินใจพักงานเขาโดยไม่จ่ายค่าเหนื่อยตั้งแต่กันยายน 2021 ถึงมิถุนาย 2023 และภายหลังเขาพ้นข้อกล่าวหาทั้งหมด

ในปี 2024 ศาลมีคำตัดสินว่า เมนดี้ มีสิทธิ์เรียกร้องเงินเดือนย้อนหลังจาก แมนฯ ซิตี้ ได้เกือบทั้งหมด ยกเว้น 5 เดือนที่เขาถูกควบคุมตัว คิดเป็นเงินประมาณ 8.5 ล้านปอนด์

หาก อาร์เซน่อล เลือกพักงานปาร์เตย์ และเขาพ้นข้อกล่าวหาในภายหลัง สโมสรอาจต้องรับผิดทั้งในด้านการเงิน และภาพลักษณ์ ฐานลงโทษนักเตะที่ไม่ผิด

ในท้ายที่สุด อาร์เซน่อล เลือกที่จะให้ ปาร์เตย์ ลงสนาม และใช้เขาในการประชาสัมพันธ์ตามปกติ แม้จะรู้ว่าเขากำลังเผชิญกับข้อกล่าวหาร้ายแรงเกี่ยวกับคดีทางเพศ

❑ คำถามส่งท้าย

มีคำถามสำคัญอีกข้อที่ควรถามคือ อาร์เซน่อล จำเป็นต้องส่ง ปาร์เตย์ ลงเล่นจริงหรือ?

ฟุตบอลเป็นเกมที่เล่นเป็นทีม มีนักเตะหลายคนที่ในบางช่วงเวลาอาจไม่ได้รับโอกาสลงสนาม หรือถูกดร็อปออกจากทีมชั่วคราวโดยไม่มีเหตุผลทางกฎหมายหรือข้อบังคับใด ๆ มากำหนด

นักเตะชื่อดังบางคนอย่าง เมซุต โอซิล หรือ ปิแอร์-เอเมอริค โอบาเมย็อง ก็เคยถูกดร็อปจากทีมเป็นเวลานานโดยไม่มีผลกระทบทางกฎหมาย

ดังนั้น การที่ อาร์เซน่อล ยังเลือกส่ง ปาร์เตย์ ลงเล่น จึงไม่ใช่เพราะ "ต้องทำตามกฎหมาย" แต่เป็นการตัดสินใจของสโมสรที่อิงจากหลายปัจจัย

ในกรณีของ ปาร์เตย์ ความสามารถในฐานะนักเตะ และมูลค่าทางธุรกิจของเขา ถูกนำมาพิจารณามากกว่าประเด็นทางศีลธรรมและจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเขาลงเล่นหรือไม่?

อเล็กซ์ คลาร์ก อธิบายว่า "สโมสรไม่มีหน้าที่ต้องส่งนักเตะลงสนามในทุกแมตช์ สำหรับนักเตะฝีเท้าระดับสูง สโมสรอาจมีหน้าที่ตามกฎหมายแรงงานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ให้จัดหางานเพื่อช่วยให้นักเตะรักษาความฟิตและทักษะของตัวเอง แต่ตราบใดที่อาร์เซน่อลยังให้ปาร์เตย์ฝึกซ้อมและจ่ายค่าแรงตามปกติ สโมสรน่าจะถือว่าปฏิบัติตามหน้าที่นี้แล้ว"

"ตามกฎของฟีฟ่า ปาร์เตย์ อาจมีสิทธิ์ทางเทคนิคในการยกเลิกสัญญาได้ หาก อาร์เซน่อล ไม่ส่งเขาลงเล่นเลยในฤดูกาลหนึ่งเต็ม ๆ (ที่เรียกว่า ‘sporting just cause’) แต่ข้อเรียกร้องแบบนี้น่าจะไม่เป็นประโยชน์กับ ปาร์เตย์ เอง เนื่องจากข้อกล่าวหาต่อเขาและความเสี่ยงที่เรื่องจะถูกเผยแพร่ออกไป"

"นอกจากนี้ สโมสรอาจกังวลเรื่องภาพลักษณ์ ที่อาจถูกตีความว่าเขาถูกตัดออกเพราะเชื่อว่าเขามีความผิด ทั้งที่เขายืนยันความบริสุทธิ์"

ในสถานการณ์นี้ อาร์เซน่อล อาจมองว่าตัวเองทำถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ และปฏิบัติตามกฎระเบียบ

แต่ในแง่ของศีลธรรมและจริยธรรม… ยังมีคำถามที่รอคำตอบอยู่


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด