ที่บ่นๆว่าคิวแข่งหนักมันจริงไหม?
สกาย สปอร์ตส์ ขันอาสารวมรวมสถิติต่างๆมาให้ดู หลังเกิดกระแสในวงการตั้งคำถามว่าบอลเตะถี่ไปหรือเปล่า?
ส่วนหนึ่งคงเพราะดาราของพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ค่อยๆร่วงทีละรายไม่ว่า โรดรี้ กองกลาง แมนฯ ซิตี้อันนี้หนักสุด ผ่าเอ็นไขว้เข่าด้านกน้า
เควิน เดอ บรอยน์, มานูเอล อาคานจี อีกสองแข้ง ซิตี้ มีปัญหาที่กล้ามเนื้อหลังเข่า
ไหนยัง อาลีสซง เบ็คเกอร์ มือหนึ่ง ลิเวอร์พูล, ซน ฮึง-มิน กองหน้ากัปตัน สเปอร์ส หรือสดๆร้อน บูคาโย่ ซาก้า ตัวจี๊ด อาร์เซน่อล
หลังโปรแกรมทีมชาติต.ค. ยังไม่ชัวร์ว่าจะเจ็บเพิ่มมาอีกเท่าไหร่
แพะรับบาปคือคิวแข่งสะสมต่อเนื่อง โดนเต็มๆก่อนเลยคือชปล.ที่เพิ่มเกมแข่งลีกเฟสเป็น 8 นัด จากเดิมกรุ๊ป สเตจ เล่นแค่ 6 เกม
แล้วมี ฟีฟ่า คลับ เวิลด์ คัพ คอยท่าซัมเมอร์ 2025 อีก
หลายเสียงบ่นออดแอดว่าเหนื่อย
แต่จริงหรือเปล่าที่ฟุตบอลสมัยนี้เตะ-ต่อ-ฤดูกาล มากกว่าเมื่อก่อน?
มีการทำค่าเฉลี่ยออกมาว่าฤดูกาล 1985-86 ทีมดิวิชั่นสูงสุดอังกฤษหวดเฉลี่ย 53.5 นัด จำนวนมากกว่าค่าเฉลี่ยสโมสรพรีเมียร์ลีก อังกฤษซีซั่นก่อนที่ 47.9 นัด ด้วยซ้ำ
ซึ่งจำนวนเกมเตะ-ต่อ-ฤดูกาลยิ่งต่ำลง นับจากซีซั่น 1995-96 ที่ลดจำนวนทีมในลีกเหลือ 20 จาก 22 สโมสร
หรือเอาเฉพาะทีมที่ลุ้นนความสำเร็จฟุตบอลถ้วย การจะเป็นแชมป์ก็ต้องเข้ารอบลึกๆ จำนวนเกมแข่งมากๆ ซึ่งนับจากทศวรรษ’80 ก็มีแค่ อาร์เซน่อล ฤดูกาล 1979-80 ที่ลงสนามถึง 70 เกม
มองต่อเรื่องคิวแข่งฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรยุโรป รายการใหญ่ ชปล.
ในฤดูกาล 2024-25 เพราะทีมร่วมโม่เกือกมากขึ้น จำนวนเกมก็เพิ่มสู่ 189 นัด จากเดิม 125 เกม
ต่างจากทศวรรษ’80 ทั้งทัวร์นาเมนต์รวมไม่เกิน 61 นัด
บอลยุโรปแข่งเพิ่ม แต่บอลถ้วยในประเทศค่าเฉลี่ยยุคนี้ลดลงอย่างซีซั่นก่อนตกทีมละ 6.05 นัด น้อยกว่าเกือบเท่าตัวเทียบกับฤดูกาล 1985-86 เฉลี่ยหวดเอฟเอ คัพ, ลีก คัพ รวมกันถึง 11.5 นัด
กราฟต่อมาเปรียบเทียบจำนวนเกมแข่งของทีมที่จบ 6 อันดับแรกตารางคะแนน ยังไงๆรอบทศวรรษหลังก็ต้องเตะละดับ 50 นัด-ต่อ-ซีซั่น
คนละเรื่องกับ 14 ทีมที่เหลือลงมาพอพ้นจากฤดูกาล 1994-95 แล้วเตะไม่เคยถึง 50 นัด-ต่อ-ซีซั่น
การหมุนเวียนนักเตะที่มากขึ้น, ขุมกำลังที่ใหญ่ขึ้นก็เป็นอีกสิ่งที่ทำให้มีการเปลี่ยนตัวสำรองไปผ่อนแรงพวกเสาหลัก
ยิ่งนับจากฤดูกาล 2022-23 ที่อนุญาตใช้สำรอง 5 คนในการเปลี่ยนตัวสามครั้ง รอบปกติ
กราฟของทั้งลีกก็เป็นขาขึ้นไม่เคยลดลงอีก ซีซั่น 2023-24 ที่ผ่านใช้สำรองรวมกัน 3,856 ครั้ง
กฎที่ปรับใช้สำรอง 5 คนในการเปลี่ยนตัวสามครั้ง รอบปกติ ยังส่งผลกระทบทันทีให้ซีซั่นๆหนึ่งมีผู้เล่นถูกใช้งานอย่างต่ำ 10 เกมพรีเมียร์ลีกอังกฤษก้าวกระโดดเกิน 400 คน จากปกติราว 300 ปลายๆ
เมื่อสำรองมีบทบาทมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามพวก 11 ตัวจริงก็เวลาแข่งลดลง
ซีซั่นที่แล้วไลน์อัพแรกแข่งเฉลี่ยที่ 70.08% ของเวลา 90 นาที สถิติลดลงมาต่อเนื่องนับจากฤดูกาล 2018-19 ตอนนั้นเล่น 73.7% ของเวลา 90 นาที
ฟุตบอลถ้วยในประเทศยังเป็นโอกาสให้ทุกทีมสลับผู้เล่นโอกาสน้อยหรือดาวรุ่งลงแข่งแบบฉ่ำๆ
ซีซั่น 2023-24 มีถึง 476 คนที่ร่วมสังฆกรรมหวด เอฟเอ คัพ, ลีก คัพ มากกว่าเมื่อสิบซีซั่นก่อนอย่างเห็นได้ชัดเพราะเมื่อ 2012-13 ยังมีเพียง 426 คน
การจะโทษว่าเกมระดับสโมสรคือตัวการเพิ่มโปรแกรมแข่งเพียงลำพังไม่ได้ เพราะระดับทีมชาติก็ปฏิทินลงสนามเพียบเหมือนกัน
แค่ดีกรีทีมชาติอังกฤษทศวรรษ ‘2020 ต้องแข่งเฉลี่ย 13.4 เกม คนละเรื่องกับทศวรรษ ’80 หวดราว 11.6 เกม
โปรแกรมลงสนามแต่ละฤดูกาลที่ดูมากทั้งสโมสรหรือทีมชาติ แต่น่าประหลาดคือผู้เล่นก็ยังเล่น-ต่อ-ฤดูกาลในจำนวนสม่ำเสมอ
กราฟต่อไปนี้คือจำนวนเกมที่เตะรวม-ต่อ-ซีซั่นทั้งทีมชาติและสโมสร คือนัดราว 60 กลางๆ
ก็ต้องรอติดตามสถิติฤดูกาลถัดๆเมื่อ ฟีฟ่า คลับ เวิลด์ คัพ ยัดคิวเล่นทุกๆ 4 ปีช่วงซัมเมอร์ จำนวนทีมเตะ 32 สโมสร
สถิติท้ายๆที่เป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงบาดเจ็บคงเป็นความเข้มข้นของเกมการเล่นมากกว่า
เห็นชัดว่า 10 ปีหลังสปีดเกมของพรีเมียร์ลีก อังกฤษ รวดเร็ว, หนักหน่วง และตะบี้ตะบันกว่าเดิมมากๆ
เห็นจากจำนวนการวิ่งด้วยความเร็วเต็มฝีเท้า มากขึ้นทุกปีตั้งแต่ 2020-21 จำนวน 127.44 ครั้ง มาสู่ 139.63 ครั้งใน 2023-24
เมื่อหักโหมใช้ร่างกาย มันก็เจ็บง่าย, เจ็บเพิ่ม และเจ็บนานขึ้น
เฉพาะ 2023-24 ผู้เล่นพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เจ็บรวมทั้งลีก 25,866 วันที่หายหน้า แล้วมันเพิ่มทุกปีนับจากซีซั่นโควิด-19 ระบาด 2020-21
คอลัมน์กีฬาบทความกีฬาต่างๆโดยนักวิเคราะห์ GURUชั้นนำของไทย มีให้ท่านได้เสพทุกวันที่เว็บไซต์ TH SPORT